อัศจรรย์แห่ง เสื่อทาทามิ ที่หลายคนยังไม่รู้

ทาทามิ ทอจากหญ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อิกุสะ (藺草・Igusa) มีลักษณะคล้ายกับต้นกกในบ้านเรา ซึ่งพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติอันสุดแสนจะพิเศษในการดูดซับและระบายความชื้นได้ดี

หลายคนคงจะเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมาบ้างแล้ว จะเห็นว่าตามเมืองหลวงในประเทศญี่ปุ่นเราจะพบกับบ้านและอาคารรูปทรงทันสมัยมากมาย แต่ในความเจริญด้านเทคโนโลยีก็ยังคงกลิ่นอายของความคลาสสิค เรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติผสมผสานอยู่อย่างกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม อาหาร เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่คงความเป็นเอกลักษณ์ญี่ปุ่นแท้  เช่น  ละครคาบูกิที่ประกอบไปด้วยเสียงดนตรีและลวดลายบนใบหน้านักแสดง, โนงะคุ หรือละครโน มรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น, ขนมโมจิที่เสริฟพร้อมกับชาเขียวญี่ปุ่นโดยหญิงสาวในชุดกิโมโน  หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านในเมืองหรือตามชนบทก็ยังมีการตกแต่งภายในให้มีความเป็นญี่ปุ่นอยู่ นั่นก็คือ” เสื่อทาทามิ (畳・Tatami)” เสื่อญี่ปุ่นที่ใช้ปูพื้นห้องในบ้านกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ทาทามิ…กับวันเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

เสื่อทาทามิ

ชาวญี่ปุ่นเริ่มใช้เสื่อทาทามิกันมาตั้งแต่สมัยนารา(奈良・Nara)แลต่อมาในสมัยเฮอัน(平安・Heian)ราวศตวรรษที่ 8 เสื่อทาทามิ ได้กลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงฐานะทางสังคม โดยกลุ่มชนชั้นสูงเหล่าขุนนางและซามูไร จะนำมาปูบนพื้นเพื่อเป็นที่รองนั่งหรือทำเป็นที่นอน จากนั้นในช่วงสมัยศตวรรษที่ 15 ก็พัฒนามาใช้ปูพื้นห้องแบบเต็มห้องจนเป็นที่แพร่หลายกันมากขึ้นที่ และขยายความนิยมอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 17 ยุคสมัยเอโดะ(江戸・Edo)ที่ได้นำมาใช้กับชาวญี่ปุ่นทุกชนชั้น จนกระทั่งยุคสมัยเมจิ(明治・Meiji)ซึ่งชาวญี่ปุ่นรับเอาวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเข้ามา จึงหันไปใช้เก้าอี้และพรมกันมากขึ้น ทำให้เสื่อทาทามิถูกลดบทบาทลงตั้งแต่นั้นมา  อย่างไรก็ตามชาวญี่ปุ่นยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านคนญี่ปุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่ทุกบ้านมักจะจัดให้มีห้องแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “วะชิทสึ (和室・Washitsu)” ไว้หนึ่งห้องเสมอ

ห้องแบบญี่ปุ่น วะชิทสึ (和室)

มหัศจรรย์วัสดุธรรมชาติ

เสื่อทาทามิ ทำมาจากวัสดุธรรมชาติล้วนๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะแปรสภาพไปตามกาลเวลา จากสีเขียวอ่อนๆ ค่อยเริ่มกลายเป็นสีน้ำตาล และเริ่มหลุดลุ่ยไปตามการใช้งานเมื่อถึงเวลาของมัน

อิกุสะ

สมัยก่อนจะทักทอเสื่อทาทามิจากฟาง โดยอัดหญ้าฟางลงไปจนถึงยอด ก็จะได้ออกมาเป็นเสื่อผืนบางๆ เวลาจะนำมาใช้หรือปูพื้นก็ต้องเอามาซ้อนกันหลายๆ ชั้นที่เรียกว่า “ทาทามุ (畳む・Tatamu)” แปลว่า “พับ, วางซ้อนกัน” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเสื่อทาทามินั่นเอง แต่เดิมทาทามิทำขึ้นโดยการนำ “ทาทามิโอโมเตะ (畳表・Tatami Omote)” หมายถึง แผ่นปูทับหน้า จะเป็นเหมือนเสื่อผืนใหญ่ที่ทอขึ้นจากหญ้าอิกุสะ (藺草・Igusa) ไปม้วนคลุม “ทาทามิโดโคะ (畳床・Tatami Doko)” หมายถึง แผ่นโครงเสื่อ แต่ว่าปัจจุบันนั้นนิยมนำวู๊ดชิพหรือแผ่นโฟมมาทำเป็นฐานหรือแผ่นโครงของเสื่อแทน แล้วด้านบนของเสื่อจะทำจากหญ้าอิกุสะ (藺草・Igusa) ที่มีลักษณะคล้ายกับต้นกกในบ้านเรา ซึ่งจะทำให้ได้พื้นสัมผัสที่นุ่มสบาย ไม่ว่าจะเดิน จะนอน หรือจะนั่งบนเสื่อก็ดีไปเสียหมด ทั้งนี้สมัยก่อนทุกขั้นตอนการผลิตจะทำด้วยฝีมือของช่างโดยถักทอเสื่อจากหญ้าอิกุสะ แต่ปัจจุบันจะใช้เครื่องจักรช่วยในการผลิตซะเป็นส่วนใหญ่

โครงสร้างเสื่อทาทามิ-ทาทามิโอโมเตะ-ทาทามิโดโคะ

คุณสมบัติที่ครบครันของเสื่อทาทามิ

หญ้าอิกุสะ (藺草) -2

เสื่อทาทามิ ทอจากหญ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อิกุสะ (藺草・Igusa) มีลักษณะคล้ายกับต้นกกในบ้านเรา ซึ่งพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติอันสุดแสนจะพิเศษในการดูดซับและระบายความชื้นได้ดี สามารถปรับความชื้นภายในห้องให้อยู่ในระดับที่สมดุลได้ ทำให้ลดจำนวนแบคทีเรียในอากาศลง ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ จึงเหมาะกับสภาพอากาศที่มีฝนตลอดทั้งปี ในฤดูหนาวก็รักษาความอบอุ่นได้ ในขณะที่ฤดูร้อนก็ให้ความรู้สึกที่สบายสดชื่น และยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เฉพาะตัวตามธรรมชาติของหญ้าอิกุสะที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งผิวสัมผัสก็ยังนุ่มสบาย แถมยังเก็บเสียงได้ดีอีกด้วย ช่างเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบของบ้านที่เข้ากันกับฤดูกาลทั้งสี่ของประเทศญี่ปุ่น

เกร็ดความรู้ศัพท์ภาษาญี่ปุ่น “ทาทามิ” เสื่อญี่ปุ่น

คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นคำอ่านคำแปล หรือความหมาย
tatamiทาทามิ เสื่อญี่ปุ่น
畳むtatamuพับ, วางซ้อนกัน
畳表tatami omote แผ่นปูทับหน้า
畳床tatami doko แผ่นโครงเสื่อ
藺草igusaหญ้าอิกุสะ (เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกับต้นกก)
和室washitsuห้องแบบญี่ปุ่น
正座seizaการนั่งตรงแบบญี่ปุ่น (ที่ต้องนั่งทับลงไปบน
ส้นเท้า และยืดหลังให้ตั้งตรง)

ถ้าเพื่อนๆ มีโอกาสได้ไปพักที่ห้องเสื่อทาทามิในญี่ปุ่นละก็ ลองลงไปนอนเล่นบนเสื่อทาทามิสัมผัสผิวของหญ้าอิกุสะดู แล้วจะรู้ว่ามันนุ่มและมีกลิ่นหอมของหญ้าอิกุสะ ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ดีทีเดียว  

ขอบคุณภาพจาก

https://www.sanook.com, https://livejapan.com, http://www.kyo-tatami.com, https://www.asukacruise.co.jp,https://pixabay.com