“คาบูกิ” มรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น (ตอนที่ 1)

คาบูกิ หมายถึง ละครรำจัดเป็นศิลปการแสดงละครเวทีแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยเกิดขึ้นจากการแสดงของไมโกะผู้ดูแลศาลเจ้าอิซูโมะที่ชื่อว่า อิซูโมโนะ โอคูนิ

คาบูกิ (歌舞伎・KABUKI)  เป็นศิลปการแสดงแบบโบราณของญี่ปุ่นที่มีประวัติย้อนหลังไปถึงยุคสมัยเอโดะ การแสดงละครแบบคลาสสิกที่มีชื่อเสียงและสำคัญทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ได้แก่ ละครโน (能楽・NOHGAKU), ละครเชิดหุ่นกระบอกบุนระคุ (文楽・BUNRAKU) และละครคาบูกิ (歌舞伎・KABUKI) ซึ่งยังได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

คาบูกิ (歌舞伎・Kabuki)  หมายถึง ละครรำ จัดเป็นศิลปการแสดงละครเวทีแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เริ่มขึ้นในตอนต้นของศตวรรษที่ 17 โดยเกิดขึ้นจากการแสดงของไมโกะผู้ดูแลศาลเจ้าอิซูโมะที่ชื่อว่า อิซูโมโนะ โอคูนิ (出雲阿国・Izumono Okuni) เธอได้ดัดแปลงท่าการร่ายรำเพื่อเป็นการถวายสรรเสริญแก่เทพเจ้าของศาสนาชินโต ซึ่งมาเปิดการแสดงที่ริมฝั่งแม่น้ำของเกียวโต การแสดงของเธอเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากมายจนได้ไปแสดงให้พระจักรพรรดิชม  ต่อมาได้มีการก่อตั้งเป็นคณะละครโดยใช้นักแสดงเป็นหญิงล้วน แต่หลังจากนั้นได้มีข่าวฉาวว่าคณะละครหญิงไปพัวพันกับการขายบริการทางเพศแฝง ในที่สุดจึงมีการสั่งให้เลิกการแสดงคาบูกิ และในปี ค.ศ. 1629 รัฐบาลสมัยโทคุกาวาได้ประกาศห้ามสตรีแสดงโดยเด็ดขาด โดยมีจุดประสงค์ที่จะรักษาศีลธรรมของประชาชน ดังนั้น คาบูกิจึงถูกแสดงโดยผู้ชายตั้งแต่นั้นมา ในกรณีที่นักแสดงชายต้องแสดงเป็นผู้หญิง จะมีชื่อเรียกว่า “อนนะงาตะ (女形・Onnagata)”

ไมโกะอิซุโมโนะ โอะคุนิ
Izumono Okuni Statue in Kyoto
ศาลเจ้าอิซูโมะ
ศาลเจ้าอิซูโมะ
อนนางะตะ
อนนะงาตะ (Onnagata)

คาบูกิ (Kabuki) เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ให้ความบันเทิงอย่างล้นเหลือ การแสดงออกอย่างเกินจริงของนักแสดงด้วยท่าทางที่มีความหมาย เช่น ร้องไห้ เสียใจ ดีใจ โกรธ บ้าคลั่ง ฯลฯ  ร่วมกับการเคลื่อนไหวที่กระฉับกระเฉง  และท่วงท่าอย่างมีรูปแบบชั้นเชิงทำหน้าที่สื่อความหมายให้แก่ผู้ชมได้อย่างลึกซึ้ง  โดยมีความเกี่ยวข้องกับชุดเครื่องแต่งกายที่ออกแบบ อย่างประณีต การแต่งหน้าที่โดดเด่นแบบมีเอกลักษณ์ รวมไปถึงการใส่วิกผมที่แปลกตา จึงทำให้ละครคาบูกิเป็นที่นิยมดูกัน และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นการแสดงที่นิยมสูงสุดในสมัยเอโดะช่วงศตวรรษที่ 20

“คาบูกิ” เป็นรูปแบบความบันเทิงที่ผสมผสานกันหลากหลายตั้งแต่ดนตรี การร่ายรำ การเล่าเรื่องตลกชวนหัวเราะ เรื่องเศร้าซึ้งและทุกๆ อย่างที่ผู้ชมต้องการดู  โดยจะมีเนื้อเรื่องอยู่ 2 ประเภท คือเรื่องเกี่ยวกับสังคมซามูไร ตำนานวีรบุรุษ ซึ่งเค้าโครงเรื่องจะอ้างอิงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์   เกี่ยวกับเวทมนตร์และเรื่องราวอันยิ่งใหญ่  และอีกประเภทคือเรื่องราวชีวิตของชาวเมือง ที่มีความอบอุ่นหัวใจ ความขัดแย้งทางด้านศีลธรรม เรื่องราวความรัก เรื่องราวโศกนาฎกรรมเศร้าเคล้าน้ำตา หรือเรื่องเล่าอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง

นอกจากนี้ การแสดงคาบูกิก็มักนิยมนำเอาเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นๆ มาดัดแปลงเป็นละคร และมีบทพูดที่เสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองอีกด้วย  หนึ่งในบทละครคาบูกิที่สร้างมาจากการเมืองอื้อฉาวคือ “จูชินกุระ (忠臣蔵・Chushingura)”  ซึ่งแม้แต่ฮอลลีวู้ดยังนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง 47 Ronin”  โดยมีเนื้อเรื่องมาจากเหตุการณ์จริงช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ที่ซามูไรไร้นายหรือโรนิน 47 คน ได้ช่วยกันล้างแค้นแทนนาย  เป็นเหตุการณ์ที่อุกอาจผิดกฎหมายแต่ได้ใจคนชาวเมืองทั่วไป  เหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกนำมาแต่งเป็นบทสำหรับการแสดงหุ่นกระบอกก่อน หลังจากนั้นในปีเดียวกันจึงมีการแสดงในรูปแบบละครคาบูกิและได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 300 ปีแล้วก็ตาม

การแสดงคาบูกิในปัจจุบันนี้เป็นแนวทางที่เรียกว่า “อะราโกโตะ (荒事・Aragoto)” ผู้ให้กำเนิดแนวทางนี้คือ “อิจิคาวะ ดันจูโร รุ่นที่ 1 (市川 團十郞・Ichikawa Danjuurou)” เขามีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เป็นผู้วางรากฐานการแสดงที่ดูเกินจริงทั้งท่าทางและการพูด ดัดแปลงมาจากการแสดงหุ่นกระบอกผสมผสานการร่ายรำของคาบูกิ การแสดงท่าทางที่โอเวอร์เกินจริงแล้วหยุดเพื่อวางท่วงท่า เปรียบเสมือนเทคนิคการซูมหรือดึงสายตาของผู้ชมทุกคู่ให้มาจับจ้องอยู่ที่นักแสดงคนนั้น  และความพิเศษที่น่าสนใจของคาบูกิอีกอย่างหนึ่งคือ เวที  ที่จะถูกสร้างอย่างวิจิตรงดงามเพื่อการแสดงที่เต็มไปด้วยฉากที่ตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งมักจะมีฉากการต่อสู้กันเกิดขึ้นมากมายในเนื้อเรื่อง โดยเวทีละครคาบูกิ จะมีลักษณะของการเคลื่อนไหวแบบหมุนได้ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนฉากได้ทันที อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการปรากฏตัวและหายตัวของนักแสดงอีกด้วย และนอกเหนือจากนี้ความพิเศษอีกประการหนึ่งของเวทีละครคาบูกิที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดก็คือ การใช้ส่วนสะพานเชื่อมต่อหรือทางเดินที่ทอดตัวจากเวทีผ่านพื้นที่ด้านหลังของผู้ชม เพื่อช่วยเพิ่มความตื่นเต้นในการเข้าและออกฉากของนักแสดงที่เรียกว่า “ฮานามิจิ (花道・Hanamichi)” ซึ่งเสียงรูดม่านแรงๆ เพื่อให้มีเสียงดังจากห่วงเหล็กตรงทางเข้าออกของทางเดินนี้ จะทำให้ผู้ชมต้องหันกลับไปดูว่าตัวละครใดจะออกมาบนฮานามิจิ โดยการออกมาจะเดินหรือร่ายรำออกมาก็ได้ แต่เมื่อมาถึงจุดต่อเชื่อมระหว่างเวทีใหญ่กับฮานามิจิ จะมีการหยุดโพสท่า ซึ่งเป็นท่าบังคับเหมือนกับที่เห็นทั่วไปในภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “อูกิโยเอะ (浮世絵・Ukiyoe)”

ฮานามิจิ
ฮานามิจิ
ทางเดินใต้เวทีนะระคุ
ทางเดินใต้เวที “นะระคุ” (Naraku)

นอกจากนี้ ฮานามิจิยังมีส่วนทางเดินใต้เวทีที่เรียกว่า “นะระคุ (奈落・Naraku)”  ที่ใช้เป็นทางเข้าฉากได้เช่นกัน  รวมทั้งการแต่งหน้าของตัวแสดงที่เป็นเอกลักษณ์  เช่น ผู้ร้ายหน้าสีน้ำเงิน พระเอกหน้าสีขาว เป็นต้น  มีบทพูดที่ฟังยากมากแต่ก็เข้มขลัง  และมีการเพิ่มสีสันให้บรรยากาศด้วยเสียงบรรเลงดนตรีสดจากเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม  องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ล้วนผนึกพลังร่วมกันในการสร้างสรรค์การแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของจิตวิญญาณ

ปัจจุบันสามารถชมการแสดงคาบูกิได้ที่ โรงละครคาบูกิต่างๆ ที่มีกระจายอยู่ตามเมืองสำคัญทั่วประเทศญี่ปุ่นดังนี้

โรงละครคาบูกิซะ

โรงละครคาบูกิซะ (Kabukiza Theater) ในโตเกียว

ย่านกินซ่า (Ginza) ในโตเกียว ที่นี่เปิดมานานกว่า 100 ปี 

มีการบูรณะเมื่อปี 2013  สามารถชมได้ตลอดทั้งปี  

มีบริการหูฟังภาษาอังกฤษ

โรงละครแห่งชาติในโตเกียว

โรงละครแห่งชาติ (National Theater) ในโตเกียว

มีโปรแกรมการแสดงหลากหลายกันไปในแต่ละเดือน

มีทั้งการแสดงคาบูกิและบุนระคุ 

รวมทั้งมีบริการหูฟังภาษาอังกฤษสำหรับเช่า

โรงละครมินามิซะ

โรงละครมินามิซะ (Minamiza Theater) ในเกียวโต

ย่านกิออน (Gion) ในเกียวโต มีจัดการแสดง

รอบละ 3 สัปดาห์ต่อปี ประมาณ 2 รอบ 

คือหนึ่งรอบในฤดูใบไม้ผลิ และอีกหนึ่งรอบในฤดูใบไม้ร่วง

โรงละครโชจิคุซะ

โรงละครโชจิคุซะ (Shochikuza Theater) ในโอซาก้า

ย่านโดทงโบริ (Dotonbori) ใกล้กับสถานีนัมบะ (Namba Station) 

ในโอซาก้า มีจัดการแสดง 3-5 รอบต่อปี โดยแต่ละรอบ

ใช้ระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ ไม่มีบริการหูฟังภาษาอังกฤษ 

แต่สามารถหาซื้อหนังสือโปรแกรมภาษาอังกฤษ

ได้ที่เคาน์เตอร์บริการข้อมูล

รูปโรงละครฮาคาตะซะ

โรงละครฮาคาตะซะ (Hakataza Theater) ในฟุคุโอกะ

อยู่ถัดจากสถานีรถไฟใต้ดินนาคาสุ คาวาบาตะ (Nakasu Kawabata

Station) ในฟุคุโอกะ มีจัดแสดง 2 รอบต่อปี คือ

หนึ่งรอบในเดือนกุมภาพันธ์และอีกหนึ่งรอบในเดือนมิถุนายน

นอกจากโรงละครดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีโรงละครที่ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่จัดการแสดงอย่างเป็นทางการอีกต่อไป แต่ได้รับการดูแลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศและโครงสร้างของโรงละครคาบูกิแบบดั้งเดิม คือ การไม่มีที่นั่งแบบตะวันตก แต่จะจัดให้นั่งบนเบาะที่วางอยู่บนพื้นภายในพื้นที่ลักษณะสี่เหลี่ยมที่คั่นด้วยไม้ขวางแทน จึงจัดได้ว่าโรงละครเหล่านี้เป็นโรงละครเชิงประวัติศาสตร์  ได้แก่

โรงละครคานามารุซะ (Kanamaruza Theater) แห่งเมืองโคโตฮิระ จังหวัดคากาว่า ในภูมิภาคชิโคคุ (Shikoku)

เป็นโรงละครที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง สร้างขึ้นในปี 1835 เป็นโรงละครคาบูกิแบบดั้งเดิมที่สมบูรณ์ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น  เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มาสำรวจห้องโถง เวที และห้องแต่งตัว รวมถึงชั้นใต้ดินที่ใช้เปลี่ยนฉากและประตูลับด้วยแรงคน เพื่อความรวดเร็วในการเข้าและออกของนักแสดง โดยจะจัดการแสดงขึ้นเป็นเวลาเพียงแค่สองสัปดาห์ในเดือนเมษายนเท่านั้น

โรงละครอุจิโคซะ (Uchikoza Theater) ในภูมิภาคชิโคคุ (Shikoku)

โรงละครคาบูกิโบราณอุจิโคซะ อยู่ที่เมืองอูจิโกะ(Uchiko) ใกล้กับจังหวัดเอฮิเมะ (Ehime) ในภูมิภาคชิโคคุ (Shikoku) ในอดีตเคยใช้เป็นที่จัดแสดงทั้งคาบูกิและบุนระคุ  แต่ในปัจจุบันมีการจัดแสดงแต่เฉพาะบุนระคุแบบนานๆ ครั้งเท่านั้นที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม 

โรงละครอุจิโคซะ
โรงละครอุจิโคซะ

ขอบคุณรูปภาพจาก www.yahoo.co.jp, www.th.jal.co.jp, http://www.vogue.co.th, https://livejapan.com/th