“ละครโน” มรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น (ตอนที่ 2)

โนงะคุ หรือ ละครโน (能楽・NOHGAKU)* เกิดจากการนำตัวอักษรคันจิ 2 คำมารวมกัน ได้แก่「能・NOH」แปลว่า ทักษะหรือความสามารถ และ「楽・RAKU」แปลว่า ง่าย สบาย

โนงะคุ (能楽・NOHGAKU) หรือ ละครโน (能・NOH)

แรกเริ่มเดิมที ละครโน เป็นการแสดงพื้นบ้านวรรณคดีประเภทละครของญี่ปุ่น โดยมีต้นกำเนิดมาจากเพลงสวดและการร่ายรำบูชาเทพเจ้าที่เกิดขึ้นในสมัยมุโรมะจิ (室町時代・Muromachi)  บทร้องในโนงะคุ จะเป็นการเปล่งเสียงออกมาในระดับโทนเดียวกัน  คำพูดมักจะใช้สำนวนโวหารที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ให้ผู้ชมตีความไปพร้อมๆ กับการแสดงที่มีท่วงท่าการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า ซึ่งจะทำให้จิตใจของผู้ชมเกิดความสงบขณะนั่งชมตามแนวคำสอนของลัทธิเซน (Zen)  ต่อมาได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชนชั้นปกครอง นักรบและซามูไรที่กำลังรุ่งเรืองในสมัยนั้น  ทำให้ “โนงะคุ หรือ ละครโน” กลายเป็นนาฏกรรมหรือศิลปะการแสดงละครของชนชั้นสูงในญี่ปุ่นที่นักแสดงจะสวมหน้ากากและแต่งกายในชุดญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งมีความเรียบง่ายแต่สง่างาม สุภาพอ่อนโยนแต่ทรงพลัง

ละครโน

การกำเนิด “โนงะคุ หรือ ละครโน”

โนงะคุ หรือ ละครโน (能楽・NOHGAKU)* เกิดจากการนำตัวอักษรคันจิ 2 คำมารวมกัน ได้แก่「能・NOH」แปลว่า ทักษะหรือความสามารถ และ「楽・RAKU」แปลว่า ง่าย สบาย  จึงมีความหมายแฝงรวมว่าเป็นการแสดงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถด้านศิลปะอันงดงามวิจิตรแต่อยู่บนความเรียบง่าย

* หมายเหตุ  เป็นการผันเสียงตามกฎการออกเสียงภาษาญี่ปุ่น (NOH+RAKU = NOUGAKU)

โนงะคุ เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงดั้งเดิมของชนชั้นสูงชาวญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 14 นับเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความเก่าแก่และได้รับการอนุรักษ์สืบทอดอย่างต่อเนื่องมาช้านาน กลายมาเป็นภาพลักษณ์สำคัญของศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ยังมีชีวิตจวบจนกระทั่งปัจจุบัน นอกจากนี้ โนงะคุหรือละครโน ยังได้รับการประกาศจากองค์กรยูเนสโก (UNESCO) ในในปี ค.ศ. 1957 (ตรงกับปีโชวะที่ 32) ให้เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าแห่งประเทศญี่ปุ่น  ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 (ตรงกับปีเฮเซที่ 13)  UNESCO ประกาศให้เป็น Masterpieces of the Oral and Intangible Heritage of Humanity  และในปี ค.ศ. 2008 (ตรงกับปีเฮเซที่ 20) ได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย

หลังจากยุคสมัยศักดินาสิ้นอำนาจ (สมัยเฮอัน ค.ศ.794-1192) ก็เข้าสู่ช่วงสมัยศตวรรษที่ 14 คือช่วงปลายสมัยคะมะคุระ (鎌倉時代・Kamakura) – สมัยมุโรมะจิ (室町時代・Muromachi) หรือประมาณช่วงอาณาจักรสุโขทัย-อยุธยาของเราครับ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลโชกุนผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ การเมืองภายในมีความวุ่นวาย เต็มไปด้วยนักรบมากมายที่มุ่งทำแต่สงคราม แต่ยังคงสถาบันจักรพรรดิไว้เช่นเดิมเสมือนประหนึ่งเป็นหุ่นเชิดเท่านั้น

เหล่าบรรดาชนชั้นนักรบรวมไปถึงโชกุนเอง ยังมีความรู้สึกว่าตนนั้นต่ำต้อยที่ยังขาดแคลนความรู้ต่างๆ มากมาย ไม่เหมือนกับชนชั้นสูงและชนชั้นศักดินาในสมัยเฮอัน (平安時代・Heian)  จึงพยายามที่จะสรรค์สร้างศิลปะต่างๆ ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของตนขึ้นมาและหนึ่งในศิลปะนั้นก็คือ “โนงะคุ”  ที่มีต้นกำเนิดเดิมมาจากละคร “ซารุงะคุ (猿楽・Sarugaku)” จากประเทศจีน ซึ่งตรงกับสมัยเฮอัน (平安時代・Heian) – สมัยนารา (奈良時代・Nara) หรือราวปีค.ศ. 700  โดยละครซารุงะคุ เป็นการแสดงเลียนแบบท่าทางพร้อมกับบทเพลงที่ฟังดูตลกขบขัน ถือเป็นการแสดงมหรสพที่นิยมจัดขึ้นตามวัดและศาลเจ้า และแพร่หลายไปยังหมู่ชนชั้นต่างๆ ทั่วไปในสังคมญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงยุคสมัยเอโดะ (Edo) ละครซารุงะคุ กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โนงะคุ (Nohgaku) หรือละครโน”

แต่เดิมแล้ว โนงะคุ ยังไม่ใช่ศิลปะการแสดงชั้นสูงแต่อย่างใด เป็นเพียงการแสดงพื้นบ้านธรรมดาที่เน้นเรื่องศิลปะการร้องเพลงและร่ายรำ โดยมีเรื่องราวซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพิธีทางศาสนา และนิทานโบราณของญี่ปุ่น  มีการกล่าวไว้ว่า วันหนึ่งนักแสดงโนงะคุ ได้ถูกเชิญให้ไปแสดงถวายต่อโชกุน โชกุนเกิดความประทับใจในการแสดงนั้นมาก จึงให้การสนับสนุนโนงะคุอย่างจริงจังและยกระดับให้เป็นนาฎศิลป์ของชนชั้นสูงตั้งแต่นั้นมา

กว่าจะมาเป็น “โนงะคุ หรือ ละครโน”    

“โนงะคุ หรือ ละครโน” เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มักใช้แสดงในพิธีบวงสรวงสักการะของลัทธิชินโต และลัทธิเซน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โน (能・Noh) และ เคียวเง็น (言・Kyougen)

โน” คือ การแสดงบนเวทีซึ่งเน้นเรื่องศิลปะการร้องเพลงและร่ายรำ โดยตัวละครหลักของโนเรียกว่า “ชิเตะ (テ・Shite)” ส่วนตัวละครสมทบเรียกว่า “วากิ(キ・Waki)” ซึ่งการแสดงนั้นจะดำเนินเรื่องราวไปด้วยตัวละครทั้งสองเป็นหลัก “ชิเตะ” มีหลากหลายบทบาทไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือนักรบ โดยผู้ชมสามารถทราบบทบาทได้จากสีหน้าหรือประเภทของหน้ากากที่เรียกว่า “โนเมน (能面・Nohmen) ที่ชิเตะสวมใส่

ส่วน “เคียวเง็น” เป็นละครตลกชวนหัวเราะ ซึ่งจะนำชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวบ้านมาผูกเรื่องและตีแผ่ออกมาในแง่ขบขัน เช่น เรื่องเกี่ยวกับลูกน้องกับเจ้านาย, พ่อตากับลูกเขย, ซามูไรขี้ขลาด เป็นต้น และใช้วิธีดำเนินเรื่องด้วยการพูดคุยแบบธรรมดาตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมหรือใช้สำนวนโวหารแบบโน ไม่ใช้ศิลปะการร้องรำแบบโน  “เคียวเง็น” มีต้นกำเนิดมาจากละครชวนหัวเราะในยุคสมัยปลายเฮอัน (平安時代・Heian) ที่เป็นการเล่นตลกล้อเลียนหรือการถามตอบของตัวละครในเรื่องสนุกๆ เฮอา  เมื่อมาถึงยุคสมัยมุโรมะจิ (室町時代・Muromachi)  จึงเป็นละครที่ร่วมเล่นสลับฉากกับโน เพื่อช่วยผ่อนคลายบรรยากาศสบายๆ  เรียกเสียงหัวเราะจากคำพูดและท่าทางของนักแสดงระหว่างการแสดง  นับได้ว่า “เคียวเง็น” เป็นละครที่เสียดสีสังคมในสมัยนั้นด้วยอารมณ์ขันโดยถือเอามนุษย์เป็นหลักในการแสดง จึงได้ชื่อว่าเป็น “ละครแห่งมนุษย์”

ทั้งโนและเคียวเง็นจะทำการแสดงบนเวทีร่วมกัน โดยละครโนจะมีเนื้อหาที่จริงจัง ผ่านการร้องเพลงและร่ายรำอย่างเงียบสงบ ส่วนละครเคียวเง็นจะมีเนื้อหาตลกขบขัน ที่ผู้ชมจะได้ดื่มด่ำกับทักษะการแสดงส่งผ่านท่าทางและคำพูดของนักแสดง หนึ่งในความสุดยอดของการได้ชม “โนงะคุ หรือ ละครโน” ก็คือการได้เห็นความแตกต่างระหว่างศิลปะการแสดงดั้งเดิมทั้ง 2 ประเภทในคราวเดียวกัน

ละครโน
ละครโน

นักแสดงละครโน

นักแสดงหลักของละครโนจะเรียกว่า “ชิเตะ (テ・Shite)” ซึ่งมีบทครอบคลุมหลากหลายบทบาทไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีเทพเจ้ามังกร นักรบ วิญญาณหญิงสาว ปีศาจสาวเท็นงู (คือวิญญาณบนภูเขา จมูกยาวและมีผิวสีแดง) และนักแสดงสมทบร่วมกับ ชิเตะ จะเรียกว่า “วากิ (キ・Waki)” มีบทบาทและเพิ่มเสน่ห์ในการรับชมอย่างสำคัญที่มิอาจขาดได้เลยในแทบทุกบทแสดง

เพลงในละครโน

การแสดงของนักดนตรีที่เล่นเพลงให้เข้ากับแต่ละฉาก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแสดงละครโน เครื่องดนตรีที่ใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของละครโน ได้แก่ ขลุ่ย ที่เรียกว่า “Noukan (能管)” (ลำขลุ่ยจะขนานกับพื้นในเวลาเป่า), กลองเล็กที่สะพายไหล่, กลองใหญ่ที่คาดไว้ตรงเอว และกลองใหญ่ที่ใช้ไม้ตี โดยนักดนตรีจะออกเสียง “ยะ” (Ya-goe) และเสียง “ฮะ” (Ha-goe) เพื่อเพิ่มความสนุกสนานครื้นเครงอีกด้วย

นักแสดง ละครโน

เวทีละครโน (能舞台・Nohbutai)

เวทีที่ถูกนำมาใช้แสดงละครโนจะมีความเรียบง่าย ซึ่งพื้นเวทีทั้งหมดจะสร้างมาจากไม้ Ennoki (ไม้ชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น) โดยเฉพาะ โดยด้านใต้เวทีจะมีไหวางไว้ เพื่อให้เกิดเสียงดังก้องกังวานของไหในเวลานักแสดงกระทืบเท้า นับเป็นเอกลักษณ์ของการแสดงละครโนที่โดดเด่น  และอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่งคือฉากหลังซึ่งวาดเป็นรูปต้นสน ที่เรียกว่า “คะงะมิอิตะ (鏡板・Kagamiita)” เนื่องจากเดิมละครโนไม่ได้แสดงต่อหน้าผู้ชม แต่เป็นการแสดงต่อหน้าต้นสนอันเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าตามความเชื่อของลัทธิชินโต โดยมีเนื้อร้องและท่าร่ายรำเพื่อการบูชาเทพเจ้าต่างๆ  และเมื่อละครโนได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นนาฎกรรมอันยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น จึงมีการจินตนาการว่าฝั่งผู้ชมมีต้นสนศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และทำการวาดต้นสนขึ้นมาใหม่เสมือนเป็นภาพสะท้อนของต้นสนจากด้านหน้าของทางฝั่งผู้ชมนั่นเองครับ นอกจากนี้ ยังมีทางเดินที่ทอดยาว เรียกว่า “ฮะชิงะคะริ (橋掛り・Hashigakari) ที่มุ่งไปสู่ผ้าม่าน 5 สีที่เรียกว่า “อะเงะมะคุ (揚幕・Agemaku)” ที่เป็นทางเข้าออกของนักแสดง โดย 5 สีของผ้าม่านมีความหมายเป็นตัวแทนของ ดิน น้ำ ลม ไฟ และท้องฟ้า กั้นกลางระหว่างส่วนหน้าเวทีที่หมายถึงโลกปัจจุบัน และหลังเวทีที่หมายถึงโลกแห่งความตาย

เวที ละครโน
เวทีละครโน
เวทีละครโน

หน้ากาก หรือ โนเมน (能面・Nohmen)

หนึ่งในลักษณะพิเศษของละครโน ก็คือ หน้ากาก หรือ โนเมน ซึ่งแกะสลักจากไม้  นักแสดงทุกคนจะต้องสวมใส่หน้ากาก อันเป็นสิ่งที่บ่งบอกทั้งบทบาทที่ได้รับ อารมณ์ที่แสดงออก และบุคลิกของตัวละคร รวมถึง เพศ อายุ และอื่นๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นทั้งหมดของการแสดงที่จะดึงดูดสายตาของผู้ชมเลยก็ว่าได้

ตัวละครเอก จะสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลาและไม่เปิดเผยใบหน้าที่แท้จริงโดยเด็ดขาด  ส่วนตัวละครรองจะไม่ใส่หน้ากาก การสวมใส่หน้ากากซึ่งมีเพียงแค่รูที่เจาะไว้เล็กๆ ที่ดวงตาเท่านั้น ทำให้เกิดความลำบากในการมองเห็นของผู้แสดง และยังทำให้เป็นการยากที่จะทรงตัว ผู้แสดงที่สวมหน้ากาก จะใช้วิธีมองไปที่เสาต้นใดต้นหนึ่งบนเวทีที่มีเสาอยู่รอบๆ เพื่อใช้กะระยะในการเดิน การทรงตัวอย่างสง่างามและถูกต้องมั่นคง  นอกจากนี้การสวมหน้ากากจะทำให้ผู้แสดงไม่สามารถก้มมองปลายเท้าในขณะแสดงได้ ดังนั้นจึงต้องใช้สมาธิและความชำนาญในการแสดงอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และเป็นที่มาของการเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของการแสดงละครโนที่มีความเชื่อมโยงกับแนวคำสอนของลัทธิเซนอย่างแนบแน่นที่เน้นความสงบในจิตใจ รับรู้ และปล่อยวางในกิเลสของมนุษย์

หน้ากากละครโน

เครื่องแต่งกาย (能装Nohshouzoku)

เครื่องแต่งกายหรือเสื้อผ้าของละครโน จะประกอบด้วยเสื้อผ้าหลากหลายประเภท ทั้งเสื้อชั้นใน เสื้อชั้นนอก และเสื้อคลุมแบบต่างๆ เป็นส่วนที่มีความสำคัญโดดเด่นในการแสดงและบทบาทของตัวละคร เพราะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงฐานะ อารมณ์ และบุคลิกของตัวละครนั้นๆ ร่วมกันกับหน้ากาก (能面・Nohmen) ได้เป็นอย่างดี และชุดที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก ประกอบกับขั้นตอนรายละเอียดที่มากในการสวมใส่นี้ ก็เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของการแสดงที่นักแสดงต้องใช้ความว่องไวในการเปลี่ยนชุดด้วยผู้ช่วยที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อให้ก้าวออกมาสู่เวทีเบื้องหน้าได้อย่างสง่างามและสมบูรณ์แบบ แต่ก็มีบางครั้งที่นักแสดงต้องเปลี่ยนชุดกันต่อหน้าผู้ชมในขณะแสดง

ชุดละครโน

เครื่องแต่งกาย หรือ “โนโชโซะคุ” ที่ใช้ในการแสดงละครโน แบ่งออกได้ดังนี้

  • 狩衣 (Kariginu)  : สวมใส่โดยบทของเทพเจ้า จักรพรรดิ ชนชั้นสูง นักบวช หรือปีศาจ มักจะทอยกดอกด้วยสีเงินหรือสีทอง
ชุดละครโน
  • 唐織 (Karaori) : สวมใส่โดยตัวละครฝ่ายหญิง หรือชายหนุ่มเจ้าสำอางหรูหรา เป็นกิโมโนปักยกดอกหลายสี มีลวดลายที่ดูนุ่มนวลอ่อนโยน
ชุดละครโน
  • 長絹 (Chouken) :  เป็นเสื้อคลุมสำหรับบทหญิงพรหมจารีหรือผีสาวในฉากเต้นรำ หรือบทของนักรบหนุ่มรูปงามและข้าราชสำนัก ทำจากผ้าที่มีความบางเบาเป็นพิเศษและมีการปักลวดลายตราประจำตระกูลไว้ด้วย
ชุดละครโน
  • 厚板 (Atsuita) : สวมใส่โดยตัวละครฝ่ายชาย สำหรับสวมใส่ใต้เสื้อคลุมอีกชั้นหนึ่ง มักทอเป็นลวดลายเรขาคณิต หรือลายอาวุธต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง
ชุดละครโน
ตัวอย่างสีของเครื่องแต่งกาย ที่บ่งบอกสถานะของตัวละคร

สีขาว                 หมายถึง        ชนชั้นสูง
สีแดง                หมายถึง        หญิงสาว
สีฟ้าอ่อน           หมายถึง        อารมณ์หุนหันพลันแล่น
สีน้ำเงินเข้ม       หมายถึง        คนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
สีเขียวอ่อน        หมายถึง        ข้าทาส, บริวาร
สีน้ำตาล            หมายถึง        คนรับใช้ หรือชาวไร่ชาวนา

โรงละครโนโบราณ…เมืองนาโกย่า (Nagoya Noh Theatre)

โรงละครโน เมืองนาโกย่า (Nagoya Noh Theatre) เป็นสถานที่จัดแสดงละคร, ดนตรีและศิลปะการร่ายรำแบบโบราณของชาวญี่ปุ่นมาช้านานและยังได้รับเลือกจากองค์กรยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในปี 2001 นับเป็นสถานที่ที่สามารถบ่งบอกถึงสถาปัตยกรรมที่สวยงามแบบญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

โรงละครโนโบราณ…เมืองโยโกฮาม่า (Yokohama Noh Theater)

โรงละครโน

โรงละครโน เมืองโยโกฮาม่า (Yokohama Noh Theater) ตั้งอยู่ในจังหวัดคานางะวะ (Kanagawa) เป็นแหล่งเรียนรู้และสัมผัสวัฒนธรรมเชิงประวัติศาตร์ของละครโนได้อย่างสมบูรณ์  เป็นที่ตั้งของเวทีละครโนที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งยังหลงเหลือให้เห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้

โนงะคุหรือละครโนเป็นการแสดงออกทางศิลปะและความบันเทิงอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษของตนเอง ด้วยจังหวะและลีลาท่าทางอันสง่างามน่าชวนดูยิ่งนัก  ละครโนได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างมากในสมัยศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 16  ด้วยลักษณะการแสดงที่คงรักษาแบบแผนโบราณไว้อย่างเคร่งครัดและมักจะสอดแทรกคำสอนที่สะท้อนให้เห็นถึงกิเลสตัณหาของมนุษย์ ตลอดจนถึงบาปที่มนุษย์สร้างขึ้นแก่ผู้อื่น ด้วยการชักชวนให้มนุษย์อย่ามีความอาฆาตพยาบาทต่อกัน ลด ละ เลิกในกิเลสตัณหาซึ่งเป็นสิ่งนำพาให้มนุษย์ต้องตกระกำลำบากและไม่มีความสุขสงบในชีวิตอันเป็นอุทาหรณ์ได้อย่างดียิ่งแก่คนรุ่นหลังตลอดมาทุกยุคทุกสมัย นับว่าเป็นความสำเร็จและเป็นอีกหนึ่งภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นตราบเท่าปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ละครโน

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.yahoo.co.jp, https://www.talonjapan.com, unesco, https://matcha-jp.com