บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีความเป็นมาอย่างไร??

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2501 หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ในช่วงเวลาที่ประชาชนประสบภาวะข้าวยากหมากแพง และกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นแนะนำให้ชาวญี่ปุ่นกินขนมปังที่ทำมาจากข้าวสาลี โดยได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา  “Chikin Ramen (チキンラーメン)” ก็ได้ปรากฎตัวบนโทรทัศน์ในฐานะสื่อใหม่ที่จะมาเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของผู้คนอย่างมากมายในเวลาต่อมา  

Chikin Ramen” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแห่งแรกของโลกที่คิดค้นโดยนายอันโด โมโมฟุกุ(安藤 百福・Momofuku Ando) ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัทนิชชิน  ซึ่งเขากลับคิดว่าทำไมชาวญี่ปุ่นต้องกินขนมปังด้วย ทั้งๆ ที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการกินบะหมี่หรือราเม็งมาโดยตลอด  เขาจึงทดลองทำบะหมี่ที่ใครๆ ก็ทำกินเองได้ง่าย สะดวก และราคาถูก กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในยุคสมัยที่ทำให้บะหมี่แห้งและปรุงรสด้วยความร้อนในน้ำมัน เขาได้เปิดโรงงานการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตจำนวนมากโดยการสร้างกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมตั้งแต่กระบวนการทำเส้นบะหมี่ที่ได้จากการผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่ (鶏ガラスープ), นึ่ง, ปรุงรสและขจัดความชื้นออกไปด้วยความร้อนในน้ำมันปาล์ม เพื่อสามารถเก็บไว้ได้นาน ผลิตภัณฑ์ที่พร้อมที่จะกินในเวลาเพียงสองนาทีโดยการเติมน้ำร้อน เส้นก็จะคืนสภาพเดิมและกินได้ทันทีโดยไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติมได้รับการขนานนามว่า “ราเม็งเวทมนตร์” และกลายเป็นที่นิยมโดยทันทีและยังคงความอร่อยมาจนถึงทุกวันนี้

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีผงปรุงรสในแพ็คเกจแยกต่างหากได้รับการเปิดตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านคุณภาพและรสชาติที่ดีขึ้น นายอันโดจึงก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศญี่ปุ่น (社団法人日本即席食品工業協会) ขึ้นในปี 2507

กิจการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับการตอบรับดีมาก เมื่อมีผู้เข้าร่วมสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมากบวกกับการแข่งขันที่รุนแรงเกินไปในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สมาคมฯ จึงพยายามรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยใช้มาตรฐานเกษตรญี่ปุ่น (JAS) และเริ่มแสดงวันที่ผลิตเพื่อให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนมีการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยเป็นวิธีการผลิตบะหมี่แบบที่ไม่ต้องทอดในน้ำมัน โดยใช้วิธีการอบแห้งด้วยลมร้อนแทน จนกระทั่งปี 2514 นายอันโดโมโมฟุกุในวัย 61 ปี ขยายกลุ่มผู้บริโภคไปยังต่างประเทศโดยพุ่งเป้าไปยังเอเชียเป็นอันดับแรกและต่อด้วยอเมริกาและยุโรป

เนื่องจากเขาสังเกตเห็นว่าชาวอเมริกันมักจะหักบะหมี่ออกเป็นสองท่อนแล้วใส่ในถ้วย ก่อนจะเติมน้ำร้อนตามไป และใช้ส้อมแทนตะเกียบ ทำให้เขาเกิดปิ๊งไอเดียผลิตบะหมี่ในชามขึ้นมา ด้วยการนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุลงในแพ็คเกจถ้วยโฟมออกวางขายในตอนแรก และค่อยพัฒนาปรับปรุงมาเป็นบะหมี่ถ้วย หรือคัพนู้ดเดิ้ล (CUP NOODLES®) พร้อมกับเครื่องปรุงรสแห้ง เช่น กุ้ง, หมู, ไข่และผัก

ผลิตภัณฑ์ CUP NOODLES® ได้ปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปทั้งหมด นวัตกรรมถ้วยได้รวมฟังก์ชั่นที่แตกต่างกันไว้ 3 ประการ ได้แก่ วัสดุบรรจุภัณฑ์ในขณะที่อยู่บนชั้นเก็บของ, หม้อหุง (Cooker) เมื่อเทน้ำเดือด และชามใส่ขณะกินบะหมี่ จึงถือได้ว่า คัพนู้ดเดิ้ล (CUP NOODLES®) เป็นอาหารแปรรูปบนแนวคิดใหม่โดยสิ้นเชิง

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ในประเทศกำลังพัฒนาในปี 2533 ที่การบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกประมาณปีละ 15,000 ล้านชิ้นในปี 2533 และความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านชิ้นในปี 2544 และเกิน 100,000 ล้านชิ้นในปี 2555 การเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นมาจากความเป็นสากลของหลักการ 5 ประการที่นายอันโด โมโมฟุกุ (安藤 百福・Momofuku Ando)  ใช้ในการพัฒนาอาหารคือ ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย สุขอนามัย อายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน และความอร่อย นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าความสามารถของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำให้ตัวเองสามารถหลอมรวมกับส่วนผสมในการปรุงอาหารในท้องถิ่นและรสชาติดั้งเดิม ผู้ผลิตหลายรายได้เปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีสูตรอาหารเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย เช่น บะหมี่ที่มีใยอาหารและคอลลาเจน บะหมี่แคลอรี่ต่ำ และบะหมี่โซเดียมต่ำ เป็นต้น

ท่ามกลางการเติบโตของตลาดอย่างรวดเร็ว นายอันโด โมโมฟุกุ เป็นห่วงว่าการแข่งขันที่รุนแรงมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาคุณภาพในระดับโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดซ้ำของเหตุการณ์ดังกล่าวที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษ 2503  นายอันโด โมโมฟุกุ จึงเสนอให้มีการจัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมระดับโลกเพื่อเป็นเวทีสำหรับความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชั้นนำของโลก ดังนั้นสมาคมผู้ผลิตราเม็งนานาชาติ (IRMA) จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีนายอันโด โมโมฟุกุ เป็นประธานสมาคมฯ และได้จัดการประชุมขึ้นครั้งแรก ณ กรุงโตเกียวในปี 2540 โดยมีผู้ผลิต 10 รายและสมาคมอุตสาหกรรมหนึ่งแห่งได้เข้าร่วม เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคุณภาพ  โดย IRMA ได้เริ่มต้นด้วยมาตรฐาน CODEX สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งได้รับการยอมรับในที่สุดในการประชุมสมัชชา Codex ในปี 2549 รวมทั้งก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ราเม็งสำเร็จรูปโมโมฟุกุ อันโด (Momofuku Ando Instant Ramen Museum, Osaka, Japan) ในปี 2542 และในปี 2550 IRMA ได้ทำการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อรองรับสมาชิกมากขึ้น โดยเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและบริษัทในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลก และในโอกาสนี้ชื่อสมาคมก็ได้เปลี่ยนเป็นสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (WINA)

จากสถิติของสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศญี่ปุ่น ปริมาณการบริโภคทั่วโลกในปี 2549 อยู่ที่ประมาณ 916,000 ล้านมื้อ (รวมถึงบะหมี่ถ้วย) ในญี่ปุ่นมีการบริโภคอาหารสำเร็จรูปประมาณ 53,000 ล้านมื้อ โดยพื้นที่การผลิตและการบริโภคที่สำคัญคือเอเชียตะวันออกและสหรัฐอเมริกา

ก่อนจะจากกันไป ผมขอเสนอ Space Ramen ที่กล่าวขานกันมากในปี 2548  เมื่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ทำการพัฒนาร่วมกับ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ที่ถูกบรรจุลงในกระสวยอวกาศ ทำเป็นก้อนบะหมี่ขนาดกัดสามชิ้น ซุป และเครื่องปรุงรส ถูกใส่ลงในภาชนะบรรจุแบบนิ่มสูญญากาศ โดยจะเป็นซุปข้นเพื่อป้องกันไม่ให้มันกระจายตัวในสภาพแวดล้อมที่ไร้น้ำหนัก

และนี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความพยายามวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของวงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในฐานะอาหารที่มีศักยภาพมหาศาลที่เกินจะจินตนาการได้บนความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภค

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://jpmanual.com , https://commons.wikimedia.org , https://ja.m.wikipedia.org , https://unsplash.com , https://pen-online.com , https://www.nissin.com