โทกุงาวะ โยชิโนบุ โชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลเอโดะ

โทกุงาวะ โยชิโนบุ เกิดที่นครเอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1837 เป็นบุตรคนที่ 7 ของโทกุงาวะ โยชิอากิ ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ...

โทกุงาวะ โยชิโนบุ (徳川慶喜) หรืออ่านได้อีกอย่างว่า โทกุงาวะ เคกิ เกิดที่นครเอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1837 เป็นบุตรคนที่ 7 ของโทกุงาวะ โยชิอากิ ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ (水戸藩主徳川斉昭) ซึ่งแคว้นมิโตะนี้นับเป็น 1 ใน 3 สายตระกูลสำคัญของตระกูลโทกุงาวะ (徳川氏)ตระกูลไดเมียวที่ทรงอำนาจของญี่ปุ่นในอดีต เป็นเชื้อสายของจักรพรรดิเซวะ (清和天皇) โดยผ่านตระกูลฟุจิวะระ (藤原氏) และตระกูลมินาโมโตะ (源氏) ที่มีสิทธิ์จะได้รับเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งโชกุน และโทกุงาวะ โยชิโนบุ ได้ขึ้นเป็นโชกุนลำดับที่ 15 ถือเป็นโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลเอโดะ (江戸幕府) หรือ รัฐบาลโชกุนโทกุงาวะ (徳川幕府) แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปกครองด้วยระบอบศักดินาโดยมีชนชั้นนักรบหรือซามูไรอยู่บนสุด ตามด้วยชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า  “โยชิโนบุ” นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลเอโดะมาหลายสมัย และพยายามขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปรัฐบาลโชกุนซึ่งกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย แต่ก็ต้องจบลงด้วยความล้มเหลว ภายหลังเมื่อสละตำแหน่งและถวายอำนาจของโชกุนคืนแก่จักรพรรดิเมจิแล้ว โยชิโนบุได้เกษียณตนเองและใช้ชีวิตตามลำพังอย่างเงียบๆ เพื่อหลบเลี่ยงจากสายตาของสาธารณชนตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913 นับว่าเป็นโชกุนผู้มีอายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

เมื่อแรกเกิดนั้น โยชิโนบุมีชื่อว่า “มะสึไดระ ชิจิโรมะ” เขาได้รับการเรียนรู้ในวิชาอักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์และการปกครองตามธรรมเนียมดั้งเดิม ตลอดจนศึกษาศิลปะการป้องกันตัว และด้วยการส่งเสริมของผู้เป็นบิดา ชิจิโรมะจึงได้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของสายตระกูลฮิโตะสึบาชิ โยชิโนบุ (一橋慶喜) ซึ่งเป็นตระกูลสำคัญหนึ่งในตระกูลโทกุงาวะ เพื่อให้มีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งโชกุนได้มากยิ่งขึ้น ในปีค.ศ. 1847 ขณะที่มีอายุ 11 ปี เขาได้ขึ้นอยู่ในตำแหน่งของผู้นำตระกูล โดยได้รับยศและราชทินนามจากราชสำนัก และได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “โยชิโนบุ” 

โทกุงาวะ โยชิโนบุ
โทกุงาวะ โยชิโนบุ ในวัยเด็ก ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า “มะสึไดระ ชิจิโรมะ”

ต่อมาเมื่อโทกุงาวะ อิเอซาดะ โชกุนลำดับที่ 13 ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1858  ตระกูลฮิโตะสึบาชิ จึงเสนอชื่อโยชิโนบุในฐานะของผู้สืบทอดในการดำรงตำแหน่งโชกุน ด้วยความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการเกี่ยวกับกิจการต่างๆ ภายในตระกูล แต่อย่างไรก็ตามจากความขัดแย้งระหว่างฮิโตะสึบาชิ กับไดเมียว อี นะโอะสุเกะ ในขณะนั้น ทำให้โทกุงาวะ โยะชิโตะมิ ก็เป็นผู้ถูกเสนอชื่ออีกคนหนึ่งโดยไดเมียว อี นะโอะสุเกะ (井伊直弼) และก็เป็นฝ่ายชนะได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนคนที่ 14 ด้วยชื่อ “โทกุงาวะ อิเอโมจิ”  หลังจากนั้นไม่นานเกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้สำเร็จราชการอันเซ (安政の大獄) โยชิโนบุพร้อมทั้งบรรดาผู้สนับสนุนจากตระกูลฮิโตะสึบาชิ ก็ถูกลงโทษด้วยการกักตัวในบ้านพักประจำแคว้นที่นครเอโดะ และโยชิโนบุก็ถูกปลดจากฐานะผู้นำของตระกูลฮิโตะสึบาชิด้วย

ยุคแห่งการปราบปรามผู้สำเร็จราชการอันเซ (安政の大獄) แทนโชกุนของไทโร อี นะโอะสุเกะ ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือด และเป็นเหตุให้ อี นะโอะสุเกะ ถูกลอบสังหารในเหตุจลาจลที่นอกประตูซากุระดะ (桜田門外の変) ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1860 ทำให้โยชิโนบุได้รับคืนฐานะผู้นำตระกูลฮิโตะสึบาชิอีกครั้ง และในปีค.ศ. 1862 ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ดูแลโชกุน (将軍後見職) และได้รับการแต่งตั้งต่อมาภายในระยะเวลาอันสั้น

เหตุจลาจลที่นอกประตูซากุระดะ (桜田門外の変) ในปีค.ศ. 1860
ประตูซากุระดะ (桜田門) ในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาเดียวกัน พันธมิตรที่สนับสนุนโยชิโนบุมาโดยตลอด คือ มะสึไดระ โยะชินะงะ (松平慶永) ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฝ่ายบริหารการเมือง (政治総裁職) และ มะสึไดระ คะตะโมะริ (松平容保) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์พระนครเกียวโต (京都守護職)  ซึ่งบุคคลทั้งสามนี้ เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการปราบปรามเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองในกรุงเกียวโต ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1864 โดยโยชิโนบุเป็นผู้บัญชาการกองทหารล้อมพระราชวังหลวงที่เกียวโต และรวบรวมพันธมิตรต่างๆ เพื่อต่อต้านการโจมตีของฝ่ายกบฏจากแคว้นโจชู (長州藩) และประสบความสำเร็จในการขับไล่กองกำลังกบฎของแคว้นโจชู  นอกจากนี้ทั้งสามคนยังเป็นบุคคลสำคัญในแนวทางการเมืองที่เรียกว่า “โคบุกัตไต (公武合体)” ด้วยการทำให้ราชสำนักกับรัฐบาลโชกุนปรองดองกันด้วยการแต่งงานทางการเมือง อันเป็นกลยุทธ์ในการประสานราชสำนักกับรัฐบาลให้เป็นหนึ่งเดียว

ในปีค.ศ. 1866 โยชิโนบุถูกเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งเป็นโชกุนลำดับที่ 15 หลังจากที่โชกุนโทกุงาวะ อิเอโมจิ เสียชีวิตอย่างกะทันหัน โยชิโนบุเป็นโชกุนตระกูลโทกุงาวะเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งอยู่นอกนครเอโดะ โดยเขาไม่มีโอกาสได้เข้าสู่ปราสาทเอโดะเลยตลอดสมัยแห่งการเป็นโชกุน

โทกุงาวะ โยชิโนบุ
โทกุงาวะ โยชิโนบุ โชกุนลำดับที่ 15 เป็นภาพถ่ายภายในปราสาทโอซาก้า
โทกุงาวะ โยชิโนบุ
โทกุงาวะ โยชิโนบุ โชกุนลำดับที่ 15 เป็นภาพถ่ายภายในปราสาทโอซาก้า
โทกุงาวะ โยชิโนบุ
โทกุงาวะ โยชิโนบุ โชกุนลำดับที่ 15 เป็นภาพถ่ายภายในปราสาทโอซาก้า

และทันทีที่โยชิโนบุได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุน มีการปฏิรูปรัฐบาลโชกุนครั้งใหญ่เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับรัฐบาล นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับความช่วยเหลือจากจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ในการสร้างโรงหล่อปืนใหญ่ที่เมืองโยโกซูกะ (横須賀市) ภายใต้การควบคุมของเลออองซ์ แวร์นี (Leonce Verny) และบรรดาผู้ติดตามจากคณะทูตทหารฝรั่งเศสเพื่อปรับปรุงกองทัพของรัฐบาลเอโดะหรือรัฐบาลโชกุนให้มีความทันสมัย

รัฐบาลโชกุนได้ดำเนินการปรับปรุงเสริมกำลังกองทัพแห่งชาติทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส อีกทั้งยังมีการจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐ เพื่อวางรากฐานไปสู่การปรับปรุงฐานกำลังและอำนาจ แต่ทว่าการดำเนินการนั้นล้มเหลวลงในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี

คณะทูตทหารฝรั่งเศส ซึ่งโทกุงาวะ โยชิโนบุ ได้เชิญให้เข้ามาช่วยปรับปรุงกองทัพรัฐบาลโชกุนให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ในปีค.ศ. 1867

โยชิโนบุได้สละตำแหน่งในปลายปีค.ศ. 1867 และถวายอำนาจการปกครองบ้านเมืองคืนแก่จักรพรรดิอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นก็ถอนกำลังรบของรัฐบาลโชกุนจากนครหลวงเกียวโตมาประจำอยู่ที่เมืองโอซาก้า อย่างไรก็ตาม แคว้นซัตสึมะ (薩摩藩) และแคว้นโจชู (長州藩) คัดค้านในการให้โยชิโนบุขึ้นเป็นประธานสภาไดเมียว ทั้งสองแคว้นได้รับราชโองการลับจากจักรพรรดิ ให้ใช้กำลังในการต่อต้านโยชิโนบุ (ซึ่งภายหลังได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นการปลอมราชโองการ) จึงได้เคลื่อนกำลังพลเป็นจำนวนมากเข้าสู่กรุงเกียวโต และเรียกประชุมโดยฝ่ายราชสำนักเพื่อทำการริบยศศักดิ์และที่ดินทั้งหมดของโยชิโนบุ โยชิโนบุแสดงท่าทีคัดค้านและร่างหนังสือประท้วงเพื่อจะนำส่งไปยังราชสำนัก ด้วยการร้องขอของบริวารจากแคว้นไอซึ (会津藩) แคว้นคุโรคาวะ (黒川藩) และแคว้นอื่นๆ โยชิโนบุได้เคลื่อนพลจำนวนมากไปกับตนเพื่อนำหนังสือดังกล่าวไปสู่ราชสำนัก

เมื่อกองทัพโทกุงาวะมาถึงนอกนครหลวงเกียวโต ขบวนทัพทั้งหมดถูกยับยั้งไม่ให้เข้ามาในเขตพระนครหลวงและถูกโจมตีโดยกองทัพของซัตสึมะและโจชู เปิดฉากการปะทะกันครั้งแรกของสงครามโบะชิงในยุทธการโทะบะ-ฟุชิมิ แม้กำลังของฝ่ายโทกุงาวะจะเหนือกว่า แต่โยชิโนบุได้ละทิ้งกองทัพของตนท่ามกลางการต่อสู้เมื่อตระหนักว่าฝ่ายซัตสึมะและโจชูต่อสู้ภายใต้ราชโองการของพระจักรพรรดิ และหลบหนีไปยังนครเอโดะ เขาได้กักกันตนเองให้อยู่แต่ในที่พักและนำส่งหนังสือยอมสวามิภักดิ์ถวายแก่พระจักรพรรดิ และในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1868 ปราสาทเอโดะได้ถูกส่งมอบแก่กองทัพองค์พระจักรพรรดิ และเมืองเอโดะทั้งเมืองได้ถูกละเว้นจากการทำลายด้วยสงคราม  ต่อมาในปีค.ศ. 1897 หลังการเกษียณตัวเองจากตำแหน่งทางการเมือง โยชิโนบุและครอบครัวทั้งหมด ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) ตราบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ด้วยการใช้ชีวิตอย่างสงบ ไม่เปิดเผยตัวต่อที่สาธารณะ และทุ่มเทกับการทำงานอดิเรกต่างๆ เช่น การวาดภาพสีน้ำมัน ยิงธนู ล่าสัตว์ ถ่ายรูป หรือขี่จักรยาน 

ในปีค.ศ. 1902 จักรพรรดิเมจิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โยชิโนบุตั้งตระกูลของตนขึ้นใหม่ในฐานะตระกูลสาขาของตระกูลโทกุงาวะ โดยได้รับพระราชทานยศขุนนางชั้นสูงสุดคือ ชั้นโคชะคุ (เทียบเท่ากับคำว่า Prince หรือเจ้าชายในภาษาอังกฤษ) เพื่อเป็นบำเหน็จแก่การรับใช้ชาติญี่ปุ่นด้วยความจงรักภักดี

โทกุงาวะ โยชิโนบุ ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอายุ 76 ปีในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913 เวลา 16:10 น. ในรัชสมัยของจักรพรรดิไทโช ร่างของเขาได้รับการฝังไว้ที่สุสานยะนะคะ กรุงโตเกียว

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://wako226.exblog.jp , https://th.wikipedia.org , https://ja.wikipedia.org , https://sekainorekisi.com