วะบิ-ซะบิ ปรัชญาแห่งสุนทรียะทางความงามของญี่ปุ่น (ตอนที่ 1)

วะบิ-ซะบิ (侘・寂) เป็นหนึ่งในปรัชญา เป็นวิถี เป็นศิลปะ เป็นหัวใจแห่งสุนทรียะทางความงามของญี่ปุ่นที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความไม่สมบูรณ์แบบ มีตำหนิ ไม่คงทนถาวร

วะบิ-ซะบิ (侘・寂) เป็นหนึ่งในปรัชญา เป็นวิถี เป็นศิลปะ เป็นหัวใจแห่งสุนทรียะทางความงามของญี่ปุ่นที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความไม่สมบูรณ์แบบ มีตำหนิ ไม่คงทนถาวร โดยทั่วไปแล้วจะสะท้อนถึงความเรียบง่าย ความสงบเงียบ ความเสมอภาค ไม่ยึดติดในคติแบบแผน เข้าใจในธรรมชาติของจิตใจที่สงบนิ่ง เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกอย่างมีสติตามหลักพุทธศาสนาแบบเซน

เดิมรากศัพท์ของคำว่า วะบิ (侘) และ ซะบิ (寂) จะมีความหมายต่างกัน โดย “วะบิ (侘)” ย่อมาจากคำว่า Wabishii (侘しい) หมายถึง สมถะ ความเรียบง่าย ความลำบาก ส่วน “ซะบิ (寂)” ย่อมาจากคำว่า Sabishii (寂しい) หมายถึง ความเงียบสงัด เหงา เศร้า เดียวดาย  ซึ่งในยุคปัจจุบันมักจะนำสองคำนี้มากล่าวรวมกัน และให้ความหมายในเชิงแนวคิดของการใช้ชีวิตที่ว่า…ทุกสิ่งล้วนไม่สมบูรณ์แบบ ไม่จีรัง ไม่แน่นอน และมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา…หรือเรียกได้ว่าเป็นการยอมรับสิ่งต่างๆ ในแบบที่มันเป็น หรือยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ……

วะบิ-ซะบิ

เซน ริคิว (千利休) บิดาแห่งวะบิ-ซะบิ   

ผู้ให้คุณค่าแก่งานฝีมือพื้นบ้านแบบดั้งเดิมของเกาหลีและญี่ปุ่นที่ทำขึ้นอย่างหยาบๆ และถูกพัฒนาขึ้นในช่วงยุคกลางของญี่ปุ่น (ซึ่งตรงกับยุคคะมะคูระถึงยุคมูโรมะจิ) เป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นนักรบก้าวขึ้นมามีอำนาจกุมชะตาบ้านเมือง มีทั้งศึกนอก (กับมองโกล) และศึกใน (ระหว่างแว่นแคว้น) ชนชั้นสูง ซึ่งเดิมยึดถือปรัชญาที่มาจากพุทธศาสนา 6 นิกายหรือนันโตะริคุชู (南都六宗) เป็นพุทธปรัชญาที่มีความซับซ้อนเพราะอ้างอิงหลักอภิธรรม ด้านสุนทรียศาสตร์มุ่งเน้นความงามอันสมบูรณ์แบบ ด้านมัณฑศิลป์เน้นความหรูหราอลังการ ด้านฉันทศาสตร์ต้องมีนัยอันลึกซึ้งเชื่อมโยงกับวรรณกรรม ที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนสมัยราชวงศ์ถัง  ครั้นเมื่อเข้ายุคสงครามมีการกวาดล้างศาสนาพุทธ หลักอภิธรรมถูกทำลาย เหลือเพียงนิกายฉาน (เซน) ที่อยู่รอดได้ เพราะไร้ซึ่งความหรูหรา ปฏิบัติธรรมอย่างติดดินและพึ่งพาตนเองได้ด้วยการทำงานหนัก ทำให้ชนชั้นสูงหันมาศึกษาปรัชญาที่แตกต่างจากเดิมอันมีลักษณะความปฏิบัตินิยม เพื่อช่วยเสริมสร้างจิตใจให้มีความเข้มแข็งที่จะเผชิญกับความตายในสนามรบได้อย่างสงบนิ่ง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ เซน ริคิว ได้สัมผัสแห่งสุนทรียะความงามที่ขาดพร่อง ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นจริงแบบเซนคือความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่จีรัง ทำให้จิตใจเต็มอิ่มและยกระดับอารมณ์ความรู้สึกให้สูงขึ้น

นักบวชเซน
เซน ริคิว (千利休) บิดาแห่งวะบิ-ซะบิ

เซน ริคิว (千利休) “ปรมาจารย์วิถีแห่งชา” 

เขาได้นำสุนทรียะความงามแบบ “วะบิซะบิ” มาเป็นวิถีแห่งการชงชาที่เรียบง่ายแบบ “วะบิฉะ (わび茶)“ ในห้องชงชา (茶の湯) ที่เขาออกแบบใหม่โดยมีต้นแบบมาจากกระท่อมชาวนา ผนังโคลน หลังคามุงหญ้า โครงสร้างไม้ที่คดโค้งบิดเบี้ยว และยังเป็นผู้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของอุปกรณ์ชงชาตามความงามแบบ “วะบิซะบิ” ที่เรียกว่า “ระคุยากิ (楽焼)” เครื่องเคลือบดินเผาที่ไม่ยึดติดรูปทรงเท่าไรนัก เนื้อผิวหยาบคล้ายขึ้นสนิม แต่เมื่อนำมาผสมผสานกับความ เป็น “เซน” แล้ว คุณค่านั้นช่างงามล้ำเลิศ จนกลายเป็นค่านิยมหรูหราของกลุ่มคนชนชั้นสูงและถือเป็นจุดเริ่มต้นของความงามพร่อง “วะบิซะบิ” สุนทรียะความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น

พิธีชงชา
การแต่งบ้านแบบเซน
การแต่งบ้านแบบเซน

ความร่วมสมัยของ “วะบิ-ซะบิ“ กับ “เซน” ในการแต่งบ้านปัจจุบัน

ในปัจจุบัน เราจะเห็นเทรนด์ความร่วมสมัยของ “วะบิซะบิ” ในการแต่งบ้านแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของคนที่ไม่ชอบความเพอร์เฟค รักความเรียบง่าย และหลงใหลในความเป็นธรรมชาติตามหลักแนวคิดของ “วะบิซะบิ” ที่ผสมกลิ่นไอความเป็น “เซน” ที่มองหาความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ เรียบง่ายและเป็นธรรมชาตินั่นเอง  โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้อยู่อาศัยมากกว่าสิ่งของ แล้วนำสิ่งของที่มีอยู่นั้นมาประยุกต์ ตกแต่ง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกตามความต้องการโดยไม่ต้องไปหาซื้อสิ่งของชิ้นใหม่มาทดแทน ซึ่งเป็นปรัชญาที่สอนให้เรามองหาความสงบสุขบนโลกใบนี้ที่แสนจะวุ่นวาย ด้วยการยอมรับในสิ่งที่มีหรือสิ่งที่เป็นมากกว่าเสียเวลาไปกับการหาสิ่งที่ดีกว่า โดยเทรนด์การแต่งบ้านก็จะแฝงแง่คิดให้เรามองหาความสวยงามในความไม่สมบูรณ์จากสิ่งของต่างๆ และมีความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว 

แนวการแต่งบ้านแบบ “วะบิ-ซะบิ”

ใช้วัสดุจากธรรมชาติ
จะเลือกใช้สิ่งของที่มาจากธรรมชาติในการตกแต่งแบบวะบิ-ซะบิ โดยวัสดุธรรมชาตินี้สามารถเข้ากันได้ดีกับการแต่งบ้านทุกสไตล์เลย ไม่ว่าสิ่งของนั้นๆ จะทำมาจากอะไร มันต้องเป็นของที่ตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยถึงจะเกิดคุณค่า
ทำทุกอย่างให้เรียบง่าย
หลักสำคัญสุดในความเป็นวะบิ-ซะบิ ก็คือความเรียบง่าย แค่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น จัดวางทุกอย่างแบบง่ายๆ เพราะของทุกชิ้นต่างก็มีเอกลักษณ์และความสวยงามในตัวเองอยู่แล้ว 
เน้นความไม่สมบูรณ์แบบ
คือ การมองหาความสวยงามจากความไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้การตกแต่งบ้านสไตล์นี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ข้าวของที่เก่า แตก หรือมีรอยตำหนิ มาตกแต่งบ้านได้อย่างสบายใจ รวมถึงยังเป็นการปล่อยให้ข้าวของต่างๆ เป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรมากเลยด้วย แต่อย่างไรก็ตามก็ควรแยกระหว่างความไม่สมบูรณ์ออกจากความรก ความไม่เป็นระเบียบด้วยนะครับผม

วะบิ-ซะบิ
วะบิ-ซะบิ

ขอบคุณภาพจาก :  https://ja.wikipedia.org, http://www.omotesenke.jp, http://www.yahoo.co.jp,
https://becommon.co, HOSTEL WASABI Osaka Bed with Library