เทศกาลทานาบาตะ (七夕祭り)

เทศกาลทานาบาตะหรือวันแห่งการเฉลิมฉลองดวงดาว ในวันเทศกาลทานาบาตะ ผู้คนจะเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เรียกว่า "ทังซะคุ"

เทศกาลทานาบาตะ (七夕祭り) แปลว่า ยามเย็นของวันที่เจ็ด เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองดวงดาวของญี่ปุ่นที่เรียกกันอีกชื่อว่า “โฮชิมะทสึริ(星祭り)” ตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากตำนานเจ็ดนางฟ้าของประเทศจีนตั้งแต่ยุคสมัยนารา ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ตำนานหมื่นใบไม้” หนังสือที่รวบรวมบทกลอนเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น

เรื่องราวมีอยู่ว่า ทางด้านเหนือของแม่น้ำแห่งสวรรค์อามาโนคาวะ (天の河) มีเจ้าหญิงโอริฮิเมะ (織姫) แห่งดาวเวก้า (織女星・Vega) ซึ่งเป็นลูกสาวของกษัตริย์ผู้ครองสรวงสวรรค์ (玉皇大帝) มีความสามารถในการทอผ้าได้อย่างงดงามและเป็นที่ชื่นชอบของพระบิดาอย่างยิ่ง จึงเรียกกันว่า เจ้าหญิงทอผ้าโอริฮิเมะ พระบิดาให้เจ้าหญิงโอริฮิเมะทอผ้าอยู่ตลอดเวลา จนเจ้าหญิงไม่มีโอกาสได้ไปพบรักกับชายใดเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ ทำให้เจ้าหญิงไม่มีความสุขเลย ด้วยความห่วงใยของผู้เป็นพ่อ พระบิดาจึงได้จัดการให้เจ้าหญิงได้มีโอกาสพบกับฮิโกโบชิ (彦星) หรือดาวคนเลี้ยงวัว (アルタイル・Altair) ที่อาศัยอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำแห่งสวรรค์อามาโนคาวะหรืออีกฝั่งของทางช้างเผือก เมื่อทั้งคู่ได้พบกัน ไม่นานนักทั้งคู่ก็ได้หลงรักกันและแต่งงานกันในที่สุด

เทศกาลทานาบาตะ
เจ้าหญิงโอริฮิเมะ

เมื่อแต่งงานไปแล้วเจ้าหญิงโอริฮิเมะก็ไม่ได้ขยันทอผ้าดั่งที่เคยเป็น ส่วนฮิโกโบชิก็ปล่อยให้วัววิ่งเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ กษัตริย์แห่งสวรรค์ทรงกริ้วมาก จึงจับทั้งคู่แยกกันไม่ให้พบกัน โดยให้อยู่กันคนละฟากของแม่น้ำแห่งสวรรค์อามาโนคาวะหรือกีดกั้นโดยทางช้างเผือกนั่นเอง  เจ้าหญิงโอริฮิเมะเสียใจเป็นอันมากที่ต้องสูญเสียสามี จึงได้ขอร้องบิดาให้ได้พบเจอกับสามีฮิโกโบชิอีก พระบิดาพ่ายแพ้แก่น้ำตาของลูกสาว ทรงใจอ่อนยอมให้ทั้งคู่สามารถเจอกันได้ในวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดของทุกปี แต่จะสามารถพบได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหญิงต้องกลับมาขยันทอผ้าให้เสร็จ จึงจะได้พบกับสามีฮิโกโบชิ เมื่อถึงเวลาที่ทั้งสองจะได้มีโอกาสพบกันอีกครั้ง แต่ทั้งคู่ก็ไม่สามารถข้ามแม่น้ำแห่งสวรรค์อามาโนคาวะหรือทางช้างเผือกมาพบกันได้เนื่องจากไร้ซึ่งสะพานข้ามทางช้างเผือก ได้แต่เห็นกันอยู่คนละฟากฝั่ง  เจ้าหญิงโอริฮิเมะจึงได้แต่นั่งร้องไห้อย่างมากมาย จนฝูงนกกางเขนที่บินผ่านมาได้เข้ามาหาด้วยความสงสารและสัญญาว่าจะสร้างสะพานโดยใช้ปีกของพวกตนช่วยกันเป็นสะพานให้ทั้งคู่ได้ข้ามทางช้างเผือกไปพบกันได้….  เลยมีคนกล่าวไว้ว่าถ้าในวันทานาบาตะปีใดเกิดฝนตก เหล่าฝูงนกกางเขนจะไม่สามารถช่วยเป็นสะพานในปีนั้นได้ ทำให้เจ้าหญิงทอผ้าโอริฮิเมะและคนเลี้ยงวัวฮิโกโบชิ ต้องรอไปอีกจนกว่าจะถึงวันทานาบาตะปีหน้าเพื่อที่จะได้พบกันอีก

เทศกาลทานาบาตะ

วันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี คือวันแห่งเทศกาลทานาบาตะหรือวันแห่งการเฉลิมฉลองดวงดาว ซึ่งเป็นเทศกาลตามฤดูกาลของญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยนารา ในวันเทศกาลทานาบาตะ ผู้คนจะเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เรียกว่า “ทังซะคุ ()” พร้อมด้วยของประดับชนิดอื่นๆ ที่ทำจากกระดาษตัดเป็นรูปคล้ายๆ โซ่อันเป็นสัญลักษณ์ของทางช้างเผือก แล้วนำไปแขวนไว้กับกิ่งไผ่เพื่ออธิษฐานขอพรจากดวงดาว ซึ่งกิ่งไผ่นี้ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันมาแต่โบราณว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้  แล้วพอเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะนำกระดาษอธิษฐานเหล่านี้ไปลอยน้ำ

แผ่นกระดาษ “ทังซะคุ (短冊)” เป็นกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้ามี 5 สี โดยมีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละสีดังนี้

สีฟ้า หมายถึง ความสุข, ความโชคดี
สีชมพู หมายถึง ความรัก
สีแดง หมายถึง ความสำเร็จ
สีเหลือง หมายถึง ความมั่งคั่ง, เงินทอง
สีเขียว หมายถึง ความสมปรารถนาในการเรียนและการทำงาน

เทศกาลทานาบาตะ

นอกจากนี้ ก็ยังมีของประดับชนิดอื่นๆ ที่ทำจากกระดาษ เช่น

โอริทสึรุ (折鶴)คือ นกกระเรียนกระดาษ เพื่อขอพรให้ครอบครัวปลอดภัยและมีสุขภาพดี อายุยืนยาว
คินจะคุบุคุโระ (巾着袋)คือ ถุงใบเล็กๆ สำหรับใส่ของกระจุกกระจิกเป็นสัญลักษณ์แทนกระเป๋าเงิน เพื่อขอพรให้ร่ำรวยและความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจ

อามิคาซาริ (網飾り)คือ ของตกแต่งรูปร่างคล้ายแหทำจากกระดาษ เพื่อขอพรให้การเก็บเกี่ยวดีและการประมงรุ่งเรือง และอื่นๆตามแต่วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

เทศกาลทานาบาตะ

งานเทศกาลทานาบาตะที่มีชื่อเสียงและจัดได้อย่างยิ่งใหญ่สุดๆ ไปเลยของญี่ปุ่น ได้แก่ที่ไหนกันบ้าง ตามมาดูกันต่อนะครับ

1. งานเทศกาลทานาบาตะที่เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ (宮城県の仙台市)

งานเทศกาลทานาบาตะเมืองเซนได (仙台七夕まつり) เป็นงานเทศกาลทานาบาตะที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น จัดติดต่อกันมาตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะโดยจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ ในงานเทศกาลจะมีการประดับกิ่งไผ่ที่เรียกว่า ซาซาคาซาริ (笹飾り) กว่า 3,000 กิ่ง ซึ่งทำขึ้นจากไม้ไผ่ขนาดความสูงถึง 10 เมตรและตกแต่งด้วยของประดับต่างๆ ที่ทำจากกระดาษ โดยจะประดับไปทั่วตัวเมืองและทั่วถนนหนทางทุกแห่งในเมืองไว้ด้วยบรรยากาศแห่งเทศกาลทานาบาตะ

เทศกาลทานาบาตะ

2. งานเทศกาลทานาบาตะที่เมืองโชนัน ฮิระทสึกะ จังหวัดคะนะงะวะ (神奈川県の湘南地域の平塚)  

เทศกาลทานาบาตะเมืองโชนัน ฮิระทสึกะ (湘南平塚七夕まつり) คือ 1 ใน 3 เทศกาลทานาบาตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งภูมิภาคคันโต ในช่วงงานเทศกาลจะแน่นขนัดไปด้วยต้นไผ่ที่ประดับตกแต่งไฟสวยสว่างสะดุดตา นอกจากนี้ยังมีอีเวนท์และขบวนพาเหรดอีกมากมาย และยังเต็มไปด้วยร้านขายอาหารสุดอร่อยของท้องถิ่น รวมถึงอาหารสุดฮิตต่างๆ ทำให้ได้ทั้งความสนุกสนานในการเที่ยวชมงานเทศกาลและยังสนุกกับการเดินชิมของอร่อยๆ ไปทั่วงานอีกด้วย

เทศกาลทานาบาตะ

3. งานเทศกาลทานาบาตะที่เมืองอันโจ จังหวัดไอจิ (愛知県の安城市)  

เทศกาลทานาบาตะเมืองอันโจ (安城七夕まつり) นับเป็นเทศกาลทานาบาตะที่มีจำนวนคำอธิษฐานมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยที่ “ทังซะคุโรด (短冊ロード)” จะประดับตกแต่งด้วยกระดาษทังซะคุที่เขียนคำอธิษฐานไว้แล้วจำนวนมากถึงราว 60,000 ชิ้น และในตอนกลางคืนก็จะมีการจัดไฟส่องสว่างสวยงามตระการตาเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการปล่อยลูกโป่งที่เขียนคำอธิษฐานไว้ขึ้นสู่ท้องฟ้าจำนวนกว่า 3,000 ลูกในคราวเดียว เป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจอย่างยิ่งอีกภาพหนึ่ง

เทศกาลทานาบาตะ

เพื่อนๆ หากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดไปร่วมงานเทศกาลนี้ที่จัดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่นดูสักครั้งกันนะครับ  แต่ในปีนี้เนื่องด้วยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้มีความจำเป็นต้องงดการจัดงานเทศกาลทานาบาตะในปี 2020 ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณไปก่อนอย่างน่าเสียดาย…คงต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติกันนะครับผม…

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.pinterest.jp , https://ja.wikipedia.org , http://www.kvision.ne.jp , https://kirari-kodomo.com