วัฒนธรรมและมารยาทบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่น

การเรียนรู้และเข้าใจในวัฒนธรรมรวมทั้งมารยาทบนโต๊ะอาหารนั้น เป็นสิ่งที่ควรศึกษาใส่ใจไว้เป็นความรู้รอบตัวที่จะทำให้ได้ใจชาวญี่ปุ่นโดยไม่ยาก

การเรียนรู้และเข้าใจในวัฒนธรรมรวมทั้ง “มารยาทบนโต๊ะอาหาร” นั้น เป็นสิ่งที่ควรศึกษาใส่ใจไว้เป็นความรู้รอบตัวที่จะทำให้ได้ใจชาวญี่ปุ่นโดยไม่ยากในยามที่คุณมีโอกาสร่วมรับประทานอาหารกับชาวญี่ปุ่น

ตามมารยาทของชาวญี่ปุ่น ก่อนเริ่มรับประทานอาหารทุกครั้ง  ชาวญี่ปุ่นจะพูดคำว่า “Itadakimasu (いただきます)“ เหมือนกับที่ชาวไทยมักพูดคำว่า “กินละนะ” โดยมีความหมายแฝงในเชิงขออนุญาตเริ่มรับประทานอาหาร และจะพูดคำว่า “Gochisousama deshita (ごちそうさまでした)” เมื่อรับประทานอาหารอิ่มแล้ว ซึ่งมีความหมายแฝงในเชิงขอบคุณผู้ที่ทำอาหารให้รับประทานนั่นเอง  นอกจากนี้แล้วขณะรับประทานอาหาร  ชาวญี่ปุ่นก็มักจะพูดคำว่า “Oishii (美味しい)”  ที่แปลว่า “อร่อย” เพื่อเป็นการชมผู้ปรุงอาหารและถือเป็นการขอบคุณไปในตัวด้วย  และสิ่งที่ควรระลึกอีกอย่างก็คือ..ควรจะรับประทานข้าวให้หมดชามนะคร้าบ  กรณีมาเป็นอาหารชุดก็ควรจะทานทุกสิ่งอย่างด้วยนะคร้าบ…..(ยกเว้นว่าคุณอิ้มอิ่มจนทานไม่ไหวแล้วจริงๆ)

รูปมารยาทบนโต๊ะอาหาร

ชาวญี่ปุ่นนั้นแทบทุกบ้านจะใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหาร ดังนั้น การปฎิบัติที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้ตะเกียบบนโต๊ะอาหาร มีดังต่อไปนี้ครับ

รูปมารยาทการใช้ตะเกียบ
  • “Kakihashi (かき箸)” หมายถึง การยกชามข้าวขึ้นไปที่ปากและใช้ตะเกียบดันอาหารเข้าไปในปากอย่างรวดเร็ว ถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพต่อผู้ร่วมรับประทานโต๊ะอาหารเดียวกัน
  • “Tatehashi (立て箸)” หมายถึง การเสียบตะเกียบคาไว้บนชามข้าว ถือเป็นกิริยาที่ไม่ดี ไม่ควรปฎิบัติอย่างยิ่ง เพราะมีความหมายแฝงว่า เป็นการให้อาหารนั้นแก่วิญญาณของคนตายหรือที่ข้างเตียงของผู้ตาย
  • “Watashihashi (渡し箸)” หมายถึง การวางตะเกียบลงบนชามข้าวในระหว่างมื้ออาหาร เป็นการแสดงความหมายว่าคุณรับประทานอาหารมื้อนี้เสร็จแล้ว ซึ่งการปฎิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในระหว่างมื้ออาหารนั้น จะต้องวางตะเกียบลงบนที่วางตะเกียบ และหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ให้วางตะเกียบที่ด้านข้างโดยเยื้องไปทางด้านหน้าจะเป็นกิริยาที่สุภาพดีที่สุด
รูปมารยาทการใช้ตะเกียบ
  • “Futarihashi (二人箸)” หมายถึง คนสองคนรับประทานอาหารจากจานเดียวกันในเวลาเดียวกัน
  • “Kojihashi (こじ箸)” หมายถึง การค้นหาหรือเลือกอาหารเฉพาะที่คุณต้องการหรือชอบทาน
  • “Sashihashi (指し箸)” หมายถึง การชี้ไปยังบุคคลอื่นด้วยตะเกียบในระหว่างมื้ออาหาร ถือว่าเป็นกิริยาที่หยาบคาย
รูปมารยาทการใช้ตะเกียบ
  • “Mayoihashi (迷い箸)” หมายถึง การถือตะเกียบส่ายไปส่ายมา จดๆ จ้องๆ ลังเล (จะกินอันไหนดีนะ) ถึงสิ่งที่อยากจะรับประทานบนโต๊ะอาหาร ซึ่งอาจทำให้บุคคลอื่นซึ่งร่วมโต๊ะเดียวกันเกิดความไม่พอใจได้
  • “Komihashi (込み箸)” หมายถึง การใช้ตะเกียบคีบอาหารเข้าปากและดันอาหารที่มีอยู่ในปากของคุณต่อไปเรื่อยๆ เพื่อกัดกินเนื่องจากไม่อาจจะทานให้หมดได้ในคำเดียว (ควรแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยตะเกียบเสียก่อน)
  • “Sorahashi (空箸)” หมายถึง ใช้ตะเกียบคีบอาหารออกจากจานไปแล้ว แต่ไม่ทานและคีบอาหารนั้นกลับคืนเข้าที่จานเดิม เป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง (แสดงให้เห็นว่าไม่มีสุขลักษณะที่ดี)
  • “Yosehashi (寄せ箸)” หมายถึง การเลื่อนชามไปข้างหน้าด้วยตะเกียบ (ควรใช้มือในการจะโยกย้ายอะไรบนโต๊ะอาหาร จึงจะเป็นกิริยาที่สุภาพและให้เกียรติต่อผู้ร่วมรับประทาน)
  • “Sashihashi (刺し箸)” หมายถึง การเสียบหรือทิ่มลงไปในอาหารด้วยตะเกียบ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี
  • การจับตะเกียบและชามข้าวด้วยมือเดียวกัน
  • การกำตะเกียบ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สุภาพ
  • ใช้ตะเกียบอันหนึ่งขูดเม็ดข้าวจากตะเกียบอีกอันหนึ่ง ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีสุขลักษณะที่ดี
  • ไม่ควรหยิบตะเกียบขึ้นมาก่อนผู้อาวุโสคนใดคนหนึ่งบนโต๊ะอาหารจะหยิบตะเกียบ เพราะถือเป็นกิริยาที่ไม่ให้ความเคารพและไม่ให้เกียรติต่อกัน

นี่เป็นเพียงข้อควรปฎิบัติบางส่วนในเรื่องความละเอียดอ่อนของวัฒนธรรมและมารยาทในการใช้ตะเกียบของชาวญี่ปุ่น ซึ่งด้วยความไม่รู้ มันอาจจะกลายเป็นความไม่พอใจสำหรับคนที่รับประทานอาหารร่วมกันได้ว่าคุณละเมิดมารยาททางสังคมของชาวญี่ปุ่น

ในมุมกลับกัน ทุกวัฒนธรรม ทุกมารยาททางสังคมของแต่ละประเทศที่หลากหลายนั้น ได้สะท้อนถึงความเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ที่สื่อสารออกมาทางพฤติกรรมต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับความคิด ความรู้สึก และความเชื่อต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ขอบคุณรูปภาพจาก  https://conobie.jp, www.yahoo.co.jp