“ออนเซ็น” ต่าง กับ “เซนโต” อย่างไร!!?

ชาวต่างชาติที่ไม่เคยมีประสบการณ์การอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนแบบรวมกันอย่างเช่นวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก่อนละก็ คงจะตื่นเต้นและเขินอายอย่างสุดๆ เป็นแน่สำหรับการลงอาบครั้งแรก

ชาวต่างชาติที่ไม่เคยมีประสบการณ์การอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนแบบรวมกันอย่างเช่นวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก่อนละก็ คงจะตื่นเต้นและเขินอายอย่างสุดๆ เป็นแน่สำหรับการลงอาบครั้งแรก  ยิ่งพี่ไทยด้วยแล้ว  การจะเปลื้องผ้าแช่น้ำอาบรวมกันดูจะไม่ถูกจริตสักเท่าไรนัก  แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ชวนหลงใหลให้ชาวต่างชาติอย่างพี่ไทยค้นหาอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียว

เพื่อนๆ คงเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับคำว่าออนเซ็น อยู่บ่อยๆ  แต่เคยสงสัยมั้ยครับว่า วัฒนธรรมการอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนของชาวญี่ปุ่นนั้น นอกจากเจ้า “ออนเซ็น” แล้ว ยังมีอีกคำว่า “เซนโต” และมันแตกต่างยังไงกันหละ?   …..วันนี้ผมจะมาแชร์ให้ฟังกันนะคร้าบ!!

ออนเซ็น

ออนเซ็น (温泉/ONSEN)

ออนเซ็น

คำว่า “ออนเซ็น” แปลว่า “น้ำพุร้อน” เกิดจากคำ 2 คำมารวมกัน นั่นก็คือ “อน (温/ON)” ที่แปลว่า “ร้อน” กับคำว่า “เซน (泉/SEN)” ที่แปลว่า “น้ำพุ”  ซึ่งการจะจัดว่าเป็นอนเซนหรือไม่นั้น มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ 2 ประการ ดังนี้คร้าบ

  • อุณหภูมิของน้ำต้องไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ณ ต้นทางอันเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำแร่ที่นำมาใช้
  • ต้องผ่าน 1 ใน 19 เกณฑ์พื้นฐานของปริมาณแร่ธาตุในน้ำ ซึ่งมีข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่น ต้องมีกรดเมแทบอลิก มากกว่า 5 มิลลิกรัม, มีไฮโดรเจนไอออนมากกว่า 1 มิลลิกรัม หรือ ข้อกำหนดอื่นๆ ที่ยังมีอีกมากมาย
อนเซน

ดังนั้นออนเซ็น ก็คือน้ำร้อนที่มีแร่ธาตุชนิดต่างๆ ผสมอยู่ในน้ำซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งธรรมชาติต้นกำเนิดของน้ำที่ทำให้คุณภาพน้ำนั้นแตกต่างกัน  การท่องเที่ยวไปอาบน้ำแร่อนเซนในที่ต่างๆ ให้ทั่วญี่ปุ่นจึงเป็นเป้าหมายของใครหลายต่อหลายคน เพราะนอกจากบรรยากาศและธรรมชาติที่สวยงามต่างกันแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับแร่ธาตุในน้ำที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ว่าไปแล้ว กิจกรรมการอาบน้ำแร่ออนเซ็นนี้อยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมาแต่โบราณ ถือเป็นสถานที่เพื่อการผ่อนคลายจากความเครียด และเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วย และมีผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วยนะครับ

เซนโต (銭湯/SENTOU)

เซนโต  มีรากศัพท์มาจากคำว่า “เซน” (銭/SEN) หมายถึง เงินเหรียญซึ่งเป็นหน่วยย่อยของเงินเยน และ “โต” (湯/TOU) หมายถึง “น้ำร้อน” เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายถึงสถานที่ที่จัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้ผู้คนสามารถมาซื้อน้ำร้อนสะอาด เพื่อการอาบหรือแช่ให้หนำใจเสมือนการอาบเองที่บ้าน  ด้วยความสะดวกสบายและยังได้ความสุนทรีในโรงอาบน้ำแบบเซนโต ซึ่งมักตกแต่งด้วยภาพภูเขาไฟฟูจิที่แสนจะเรียบง่าย แต่ก็สามารถดึงสายตาให้คุณจดจ้องไปพลางแช่น้ำไปพลางได้อย่างเพลิดเพลินทีเดียว

ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งออนเซ็น และเซนโต ต่างก็เป็นสถานที่อาบน้ำสาธารณะทั้งสิ้น เพียงแต่เซนโตเป็นสถานที่อาบน้ำที่ใช้น้ำประปาอุ่นร้อนธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้ใช้น้ำแร่อย่างอนเซนนั่นเองหละคร้าบ

เซนโต

ในช่วงสมัยก่อนสงครามโลก การจะสร้างบ้านที่มีห้องอาบน้ำในตัวด้วยถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นสมัยนั้น ด้วยความแคบของพื้นที่ เหตุผลทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของประชากร

โรงอาบน้ำ
โรงอาบน้ำ

จนกระทั่งต้นสมัยเอโดะ ตามแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ มักจะมีโรงอาบน้ำสาธารณะที่ใช้งานร่วมกัน สืบเนื่องไปจนสมัยเมจิก็ยังพบเห็นโรงอาบน้ำกระจายตัวอยู่ในเขตเมืองที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง จะสามารถเดินเท้า หรือปั่นจักรยานมาพร้อมอุปกรณ์อาบน้ำเพื่อใช้บริการได้ไม่ไกลนัก ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่สมัยใหม่ และมีห้องอาบน้ำอยู่ในบ้านตนเอง ส่งผลให้การแช่น้ำที่เซนโตเริ่มลดความนิยมลงไปเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

โรงอาบน้ำ

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.yahoo.co.jp, www.spa.or.jp, www.hgp.co.jp, www.buko-onsen.co.jp