การมอบของขวัญในช่วงปีใหม่ของคนญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นมีประเพณีการส่งมอบของขวัญให้กันมาแต่โบราณแล้ว เดิมเป็นเพียงเพื่อสื่อความรู้สึกของตนไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งในรูป แบบสิ่งของที่ได้รับการห่อด้วยความปราณีตและใส่ใจ

คนญี่ปุ่นมีประเพณีการส่งมอบ ของขวัญ ให้กันมาแต่โบราณแล้ว เดิมเป็นเพียงเพื่อสื่อความรู้สึกของตนไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งในรูปแบบสิ่งของที่ได้รับการห่อด้วยความปราณีตและใส่ใจ  เนื่องด้วยคนญี่ปุ่นจะไม่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างโจ่งแจ้ง จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับวิธีการห่อของขวัญ ซึ่งเสมือนกับการห่อหุ้มความรู้สึกนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว คนญี่ปุ่นมักจะไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับ ด้วยความเป็นมาจากประเพณีการถวายของแด่เทพเจ้าในสมัยโบราณ โดยหัวหน้าครอบครัวจะทำหน้าที่เป็นผู้เปิดของขวัญ จากประเพณีปฎิบัตินี้เองจึงถือเป็นมารยาทที่จะไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับ (แต่ในปัจจุบันเริ่มไม่เคร่งครัดแล้ว) นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว  คนญี่ปุ่นจะให้ ของขวัญ กันเพื่อเป็นการฉลองเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น ฉลองวันเกิด การจบการศึกษา การเข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น  และนี่ก็ใกล้เข้าสู่ฤดูแห่งการเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ที่ทุกคนทั่วโลกจะส่งมอบความสุขต่อกันด้วยการให้ ของขวัญ  ซึ่งผมก็จะมาแชร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวัฒนธรรมการมอบของขวัญในช่วงปีใหม่ของคนญี่ปุ่นที่น่าสนใจให้กับเพื่อนๆ กันนะคร้าบ

การแสดงความขอบคุณต่อผู้มีพระคุณ เพื่อน และคนรู้จักด้วยของขวัญจากใจ

ในยุคปัจจุบันของขวัญส่งท้ายปีเก่าเป็นของขวัญแห่งความกตัญญูที่มาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า “ได้โปรดช่วยเหลือกันต่อไปด้วยเถิด”  คนญี่ปุ่นนอกจากจะส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ หรือ เนนงะโจ (年賀状) กันแล้ว ยังต้องเตรียมของขวัญส่งท้ายปีเก่าที่เรียกว่า “โอะเซโบะ (お歳暮)” อันเป็นธรรมเนียมเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะด้วยการมอบของขวัญในช่วงสิ้นปีให้กับผู้มีพระคุณที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอดทั้งปี เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกของความกตัญญูและความขอบคุณจากใจ  โดยช่วงเวลาแห่งการมอบของขวัญนี้จะแตกต่างกันเล็กน้อยตามภูมิภาค เช่น ในภูมิภาคคันโต (関東地方) จะเริ่มมอบให้กันตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมไปจนถึงสิ้นปีคือวันที่ 31 ธันวาคม และในภูมิภาคคันไซ (関西地方) จะเริ่มมอบให้กันในช่วงวันที่ 13 ถึง 31 ธันวาคม  ซึ่งของขวัญที่นิยมซื้อมอบให้กันนั้นมักจะเป็นของกินอย่างเช่น พวกเนื้อหมู เนื้อวัว แฮม เบคอน ไส้กรอก บะหมี่ ผลไม้สด เบียร์ กาแฟ นม น้ำผลไม้ เพื่อให้ผู้รับสามารถนำไปทำเป็นอาหารชุดปีใหม่ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โอะเซจิ เรียวริ (御節料理)” ไว้ทานกันในครอบครัวเพื่อฉลองปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

สิ่งที่คนญี่ปุ่นต้องมี..ต้องทำ..ในช่วงวันปีใหม่

คนญี่ปุ่นจะพากันตกแต่งบ้าน เตรียมอาหาร และส่งมอบความกตัญญู ความสุขด้วยของขวัญในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (ประมาณกลางเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม) รวมถึงกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่คนญี่ปุ่นจะทำกันในช่วงแห่งความสุขนี้  ซึ่งจะมีอะไรกันบ้างนั้นตามไปดูกับผมพร้อมๆ กันเลยครับ

อย่างแรกเป็นของประดับบ้านช่วงปีใหม่ที่เรียกว่า คะโดมัทสึ (門松) ซึ่งจะถูกจัดวางไว้สองฟากฝั่งประตูบริเวณทางเข้าบ้านหรืออาคารสำนักงาน เพื่อต้อนรับเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ที่จะนำความสุขและความโชคดีลงมาสู่โลกมนุษย์ในช่วงปีใหม่ ทำมาจากไม้ไผ่และกิ่งสน และอาจจะประดับเพิ่มเติมด้วยสิ่งของมงคลอย่างอื่นแล้วแต่รสนิยมของแต่ละท้องถิ่น

ของแต่งบ้านปีใหม่

ถัดมาของแต่งบ้านช่วงปีใหม่อีกอย่างหนึ่งที่นิยมไม่แพ้กัน คือ คะงะมิโมจิ (鏡餅) เป็นของแต่งบ้านปีใหม่ ที่ทำออกมาเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ โดยจะจัดวางไว้ที่ โทโคโนะมะ (床の間) ซึ่งเป็นพื้นที่หรือซุ้มไม้เล็กๆ ที่ถูกจัดไว้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน คะงะมิโมจิ จะมีโมจิกลมๆ สองลูกวางซ้อนกันอยู่ (หมายถึงสัญลักษณ์ตัวแทนพระจันทร์กับพระอาทิตย์) เมื่อพ้นช่วงปีใหม่ไปแล้วประมาณวันที่ 11 มกราคม โมจิทั้งสองลูกก็จะถูกนำมากินเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับคนในบ้าน

ของแต่งบ้านปีใหม่

ต่อมาเป็นสิ่งที่นักช้อปทั้งหลายคงจะชื่นชอบอยู่ไม่น้อยที่เรียกว่า ฟุคุบุคุโระ (福袋) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lucky Bags (ถุงนำโชค) นั่นเอง  ฟุคุบุคุโระ ส่วนใหญ่จะรวมสินค้าหลายๆ อย่างไว้ภายในโดยผู้ซื้อจะไม่รู้เลยว่ามีอะไรอยู่บ้าง แต่มูลค่าของสินค้ามักจะมากกว่าราคาที่จ่ายไป 2 – 3 เท่า (จากราคาขายปลีก) ปกติก็จะมีการจำหน่ายเจ้าถุงนำโชคนี้กันในวันที่ 2 หรือ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ห้างร้านต่างๆ เปิดเป็นวันแรกของปี ซึ่งจะเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกค้าเป็นอย่างมากที่จะได้มีโอกาสลุ้น “โชคดี” ของตัวเองรับปีใหม่กันด้วย

ถุงนำโชค

คราวนี้เรามาเข้าหมวดของกินกันบ้างที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วในตอนต้น ที่มีชื่อเรียกกันว่า โอะเซจิ เรียวริ (お節料理)
อาหารปีใหม่ของคนญี่ปุ่น เพื่อนำความโชคดีและสุขภาพแข็งแรงมาให้คนในครอบครัวตลอดปีใหม่ โดยแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นก็จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ส่วนประกอบของอาหารแต่ละอย่างก็จะมีความหมายดีๆ พิเศษๆ ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งอาหารจะถูกจัดวางอย่างสวยงามภายในกล่องอาหาร โดยอาจจะเป็นกล่องใหญ่ชั้นเดียว หรือเป็นกล่องขนาดย่อมๆ แต่หลายชั้นก็ได้ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวรวมถึงแขกที่มาอวยพรปีใหม่ได้รับประทานร่วมกัน

อาหารปีใหม่

อาหารมงคลช่วงปีใหม่อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ โซนิ (雑煮) เป็นซุปโมจิใส่เนื้อไก่ ปลาและผักต่างๆ  และ โทชิโคชิโซบะ (年越し蕎麦)  ซึ่งส่วนประกอบและรสชาติก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่  โดยอาหารทั้งสองอย่างมีความหมายว่าเจริญรุ่งเรืองและอายุยืนยาวนาน

อาหารปีใหม่

อย่างต่อไป มารู้จักกับ ส.ค.ส แบบฉบับญี่ปุ่นกันบ้างที่ได้กล่าวถึงไปในตอนต้น ที่เรียกว่า ไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ หรือ เนนงะโจ (年賀状)  อันที่จริงแล้วมันก็เป็นการ์ดธรรมดาๆ ที่ส่งไปอวยพรปีใหม่ให้กับญาติพี่น้อง เพื่อน และเจ้านายนั่นแหละครับ คนญี่ปุ่นจะส่งการ์ดอวยพรนี้กันก่อนสิ้นเดือนธันวาคม  จุดเด่นของ เนนงะโจ ก็คือทางไปรษณีย์จะทำการจัดส่งให้ถึงมือผู้รับทั้งหมดในวันที่ 1 มกราคมทั่วทั้งประเทศ  ซึ่งคงจะทำให้ผู้รับมีความสุขกับคำอวยพรปีใหม่กันมากเลยทีเดียวแน่นอนครับ และบนเนนงะโจแต่ละใบก็จะมีตัวเลขกำกับอยู่ด้วย ใครโชคดีอาจจะถูกรางวัลพิเศษได้โชคใหญ่รับปีใหม่เลยก็ได้ (คงอยากได้ส.ค.ส. แบบนี้กันบ้างล่ะสิ… ^^ )

บัตรอวยพรปีใหม่

อย่างต่อไป น่าจะถูกใจและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ อย่างมาก ที่เรียกว่า โอะโทชิดะมะ (お年玉) ก็คือเงินปีใหม่ ประมาณอั่งเปาของชาวจีนนั่นหละครับ  เด็กๆ จะได้รับจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา เป็นเงินรางวัลตอบแทนความเป็นเด็กดีตลอดทั้งปีที่ผ่านมา และหวังว่าปีใหม่นี้ก็จะทำตัวเป็นเด็กดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก มีความหมายโดยนัยะประมาณนี้นะคร้าบ…

เงินปีใหม่

กิจกรรมสุดท้ายที่คนญี่ปุ่นไม่ว่าใครก็ทำกันในช่วงปีใหม่ แม้แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็ไม่ควรพลาดเช่นกันนะครับ นั่นก้อคือ ฮะทสึโมเดะ (初詣) การไปวัดหรือศาลเจ้าเพื่อขอพรปีใหม่  ให้เป็นปีที่ดี มีโชค มีลาภ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งศาลเจ้าที่คนญี่ปุ่นนิยมไปขอพรปีใหม่กันมาก ก็คงจะเป็นศาลเจ้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นตลอดกาล คือ ศาลเจ้าอิเสะ (伊勢神宮・Ise Jingu) ศาลเจ้าอิซุโมะ (出雲大社・Izumo Taisha) และศาลเจ้าเมจิ (明治神宮・Meiji Jingu)

ศาลเจ้าญี่ปุ่น

ศาลเจ้าอิเสะ (伊勢神宮・Ise Jingu)
ศาลเจ้าอิเสะ (伊勢神宮・Ise Jingu)
ศาลเจ้าอิซุโมะ (出雲大社・Izumo Taisha)
ศาลเจ้าอิซุโมะ (出雲大社・Izumo Taisha)
ศาลเจ้าเมจิ (明治神宮・Meiji Jingu)
ศาลเจ้าเมจิ (明治神宮・Meiji Jingu)

จากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา เห็นได้ชัดว่าคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า ถ้าได้มี หรือได้ทำแล้วจะปัดเป่าความโชคร้ายให้มลายหายไป และนำแต่สิ่งดีๆ มีความสุขมาให้ตลอดทั้งปีใหม่ เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติในแต่ละภูมิภาคของโลกใบนี้….

ขอให้พี่ๆ เพื่อนๆ ทุกคนมีความสุขในช่วงเวลาแห่งปีใหม่นี้กันถ้วนหน้านะคร้าบ… ^^

あけましておめでとうございます!

Akemashite Omedetou Gozaimasu !

” สวัสดีปีใหม่ “

ขอบคุณภาพจาก : www.takashimaya.co.jp, www.yahoo.co.jp

มาเป็นครอบครัวเดียวกันกับเราได้ที่ Line@ และ Facebook Page